สถานีคิดเลขที่ 12 : by นิติ‘บันดาล’

สถานีคิดเลขที่ 12 : by นิติ‘บันดาล’ ต้องถือว่าความพยายาม “บันดาล”

สถานีคิดเลขที่ 12 : by นิติ‘บันดาล’

ต้องถือว่าความพยายาม “บันดาล” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปต่อหลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีโดยพฤตินัยมาครบ 8 ปี

มีค่าใช้จ่ายแพงมหาศาล

โดยเฉพาะเหล่านักกฎหมายระดับปรมาจารย์
นับตั้งแต่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายวิษณุ เครืองาม
รวมไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษที่สังคมเพิ่งรู้ว่ามีการตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2565 เพื่อหา “ทางออก??” ให้กรณีวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ

Advertisement

ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เคยมีตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายนรชิต สิงหเสนี นายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย นายประพันธ์ นัยโกวิท นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายอัชพร จารุจินดา นายอุดม รัฐอมฤต

“จ่ายแพง” เพราะต้องเอาประสบการณ์ ความรอบรู้ และอาจถึงเกียรติภูมิ มาช่วยการันตีว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกฯได้ต่อโดยปักหมุดหมายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560

ว่าไป ความเห็นต่างในประเด็นกฎหมาย สังคมคงพอยอมรับได้
แต่กระนั้น พอมาถึงประเด็น บันทึกการประชุม และรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 และครั้งที่ 501
ซึ่งนายมีชัย และ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เคยมีความเห็นและจุดยืนอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นคุณกับ พล.อ.ประยุทธ์
แต่พอต้องมา “บันดาล” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อ จึงต้องเปลี่ยนท่าที และด้อยค่า เอกสารดังกล่าวลงเสียดื้อๆ
ดื้อๆ อย่างที่เราเห็นในคำชี้แจงของนายมีชัย ที่หลุดออกมา

Advertisement

รวมทั้งที่นายวิษณุเป็นตัวแทนอธิบายว่า
“บันทึกรายงานการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 /501 /502 /503 ไม่มีน้ำหนัก…เอกสารดังกล่าวเป็นรายงานการประชุมที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว เมื่อปี 2560 แต่การประชุมดังกล่าวมาทำหนังสือปี 2561 ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนข้อที่หนึ่ง จุดอ่อนข้อที่สองเป็นเพียงแค่ 2-3 คนพูดกันส่วนองค์ประชุมที่เหลือ 17 คนนั่งอยู่ไม่ได้ลงมติ และนายมีชัยได้ออกมาชี้แจงแล้ว ประกอบกับคนจดยอมรับว่าจดเนื้อหาไม่ครบ และข้อสำคัญคือการที่มานั่งประชุมกันทำหนังสือเพื่อเป็นคำอธิบายรายมาตราและพอถึงมาตรา 158 เรื่องวาระ 4 ปีก็ไม่มีคำอธิบายที่พูดเรื่องการนับย้อนอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องยึดบทสรุปของหนังสือดังกล่าวเป็นหลัก จะพูดกันในที่ประชุมยังไงก็ช่างแต่ต้องดูเจตนาผลสรุปของหนังสือเพื่อเป็นคู่มือในการตีความรัฐธรรมนูญ”

หลายๆ คนได้ยินแล้วมึนกับตรรกะเช่นนี้

ยังดีที่ศาลรัฐธรรมนูญประชุมในเรื่องนี้แล้ว มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งมีวาระการประชุม รับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่7 กันยายน 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้วโดยไม่มีการแก้ไข มาให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันอังคารที่ 13 กันยายน 2565

คนที่บอกว่าเรื่องนี้ไม่มีน้ำหนัก คงรู้สึก รู้สาอะไรบ้างกระมัง
หรือแหะ-แหะ ไม่รู้สึกอะไร เพราะเมื่อเล่นบทผู้ “บันดาล” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อเสียแล้ว

อะไรจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ ก็สามารถเปลี่ยนได้ พลิกได้ กลืนน้ำลายได้ อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
ยกเว้นเรื่องที่ ทำมาตั้งแต่เข้าไปเป็นมือไม้คณะรัฐประหารในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปูทางให้ “อยู่กันยาวๆ”
นั่นห้ามแตะ ห้ามเปลี่ยนเด็ดขาด แถมยังวางกลไกป้องกันไม่ให้ใครแก้ได้โดยง่ายอีกด้วย

ล่าสุด รัฐสภาโหวตคว่ำ 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ไปเรียบร้อย

ผลงาน “by นิติบันดาล” ทั้งนั้น

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image