สถานีคิดเลขที่ 12 : เรียนรู้ 14 ตุลาฯ และคดี 8 ปี

เรียนรู้14ตุลาฯและคดี8ปี

สถานีคิดเลขที่ 12 : เรียนรู้ 14 ตุลาฯ และคดี 8 ปี

เข้าสู่ช่วงรำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยเลือดเนื้อชีวิตของนักศึกษาประชาชนในเดือนตุลาคม กล่าวกันว่า นอกจากเพื่อเป็นการย้อนคารวะจิตใจของคนที่กล้าหาญเหล่านั้นแล้ว ยังเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อไม่ให้สูญเสียซ้ำอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจ ต้องเรียนรู้ความผิดพลาดของผู้นำเผด็จการทหาร ในยุค 14 ตุลาคม 2516 ให้ถ่องแท้ อย่าได้มีพฤติกรรมที่เป็นชนวนไปสู่การลุกฮือของประชาชน อย่าเดินซ้ำรอยเผด็จการยุคนั้น

ช่างพอดิบพอดี ที่สังคมไทยเราเพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่ยังพูดคุยถกเถียงกันอยู่จนถึงขณะนี้ คือ คดี 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แม้จะรอดพ้นคดีได้ แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งหนักหนาไปกันใหญ่

เนื้อความในคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายเสียงข้างน้อย ที่ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯครบ 8 ปีแล้ว ได้รับการเผยแพร่กันไปกว้างขวาง

Advertisement

สำคัญสุดคือข้อความที่ระบุว่า “การจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไป ยิ่งอยู่นานก็จะยิ่งสามารถสร้างรากฐานอำนาจไว้กับตนและพวกพ้อง นำไปสู่การผูกขาดอำนาจ ยึดมั่นในตัวบุคคลมากกว่าหลักการประชาธิปไตย อันอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

ชัดเจนว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่มิให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯอยู่ในวาระเกิน 8 ปี ก็เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมือง แล้วจะนำไปสู่วิกฤตการเมือง

ประเด็นนี้ เห็นได้ทั่วไปในการเมืองทั่วโลก

Advertisement

ในบ้านเราเอง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่อยู่ในวาระรำลึกกันในเดือนนี้ กล่าวได้ว่า เป็นวิกฤตการเมือง ที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงใหญ่และถูกปราบปรามนองเลือด ก่อนลงเอยด้วยชัยชนะของประชาชน

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การผูกขาดอำนาจของกลุ่มเผด็จการทหารในยุคนั้น ผูกขาดกันต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี

ผูกขาดสร้างรากฐานอำนาจให้กับตนเอง และพวกพ้อง คือ จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ก่อนที่จุดจบจะกลายเป็น 3 ทรราช

เมื่อนักศึกษาปัญญาชน รวมตัวกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ด้วยทนไม่ไหวกับการครอบครองอำนาจอย่างยาวนานของรัฐบาลทหาร

แต่รัฐบาลของเหล่าจอมพลเหิมเกริมในอำนาจกองทัพอันแข็งแกร่งในมือ ใช้วิธีแข็งกร้าว จับกุมดำเนินคดีกับกลุ่มที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญในข้อหากบฏ ทำให้ประชาชนลุกฮือออกมาร่วมชุมนุมมากมายมืดฟ้ามัวดิน รัฐบาลทหารก็ยังหลงว่าอำนาจตัวเองแข็งแกร่ง ไม่รับฟังเสียงเรียกร้อง ส่งทหารออกปราบม็อบด้วยกระสุนจริง จึงยิ่งลุกลามไปไกล สุดท้าย 3 ทรราช ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

ปิดฉากยุครัฐบาลทหาร เบิกม่านประชาธิปไตยครั้งสำคัญ

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ในเดือนตุลาคม ทั้ง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 จึงต้องรำลึกถึงในทุกๆ ปี ด้วยเป็นวีรกรรมการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของนักศึกษาประชาชน เป็นบทเรียนให้เหล่าผู้ปกครองผู้มีอำนาจต้องเรียนรู้

ผู้มีอำนาจยุคนี้ยิ่งต้องศึกษาให้ดี หลังจากเพิ่งผ่านคดีวาระนายกฯ 8 ปี แม้จะรอดมาได้ แต่ก็กลายเป็นจุดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

เพราะจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้เป็นนายกฯยาวนานเกิน 8 ปี ก็เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ การสร้างฐานอำนาจให้ตัวเอง และพวกพ้อง จนกลายเป็นวิกฤตทางการเมือง

ศึกษาประเด็นนี้ให้ดี ศึกษาจากการครองอำนาจยาวนานของกลุ่มจอมพลจนกลายเป็น 14 ตุลาฯให้ดี!!

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image