สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘สนามเลือกตั้ง กทม.’ ในนิด้าโพล

ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนกรุงเทพมหานครโดย “นิด้าโพล” ในหัวข้อ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคน กทม.” ซึ่งเผยแพร่ออกมาในวันที่ 30 ตุลาคม นั้นน่าสนใจ

ประเด็นแรกที่นิด้าโพลสำรวจ ก็คือ บุคคลที่คนกรุงเทพฯ สนับสนุนให้เป็นนายกฯ

ผลปรากฏว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีคะแนนนำมาเป็นอันดับหนึ่ง 20.40 เปอร์เซ็นต์

อันดับสอง ได้แก่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มีคะแนน 15.20 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

อันดับสาม คือ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มีคะแนน 14.10 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นที่สอง คือ พรรคการเมืองที่คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต

ผลปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย ครองคะแนนนิยมอันดับหนึ่ง 28.50 เปอร์เซ็นต์ อันดับสอง พรรคก้าวไกล 26.45 เปอร์เซ็นต์ อันดับสาม พรรคพลังประชารัฐและยังไม่ตัดสินใจ มีคะแนนเท่ากันที่ 9.50 เปอร์เซ็นต์ อันดับสี่ พรรคประชาธิปัตย์ 9.45 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ประเด็นที่สาม คือ การสำรวจหาพรรคการเมืองที่คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

อันดับหนึ่งยังคงเป็นพรรคเพื่อไทย 28.60 เปอร์เซ็นต์ อันดับสอง พรรคก้าวไกล 26.10 เปอร์เซ็นต์ อันดับสาม ยังไม่ตัดสินใจ 10.15 เปอร์เซ็นต์ อันดับสี่ พรรคพลังประชารัฐ 9.15 เปอร์เซ็นต์ อันดับห้า พรรคประชาธิปัตย์ 9.00 เปอร์เซ็นต์

มีอะไรน่าคิดต่อจากผลสำรวจของนิด้าโพลบ้าง?

เริ่มจากโจทย์ของ “ผู้มีคะแนนนำ” ในการสำรวจหนนี้

ในแง่ความเป็นผู้นำการเมือง คงต้องยอมรับว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ดูมีภาษีดีที่สุด เพราะการได้แสดงวิสัยทัศน์ของตนเองในฐานะฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง โดยมีคู่ตรงข้ามเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลว แถมยังได้ยืนหยัดท้าทายอยู่ท่ามกลางบรรดานักการเมือง-พรรคการเมืองที่มีภาพลักษณ์ “เก่า” กว่า เป็นเวลาต่อเนื่องถึงสี่ปี

กระนั้นก็ดี ในแง่ความเป็นพรรคการเมือง พรรคก้าวไกลกลับยังไม่ใช่ความหวังสูงสุด หากเทียบกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่อยู่มานานกว่าอย่างเพื่อไทย

สำหรับเพื่อไทย จุดที่ไม่มีปัญหาคือความแข็งแรงและคะแนนรวมของพรรค ซึ่งบ่งบอกว่าประชาชนต้องการรัฐบาลของพรรคการเมืองพรรคนี้

ทว่าในแง่ความเป็นผู้นำการเมือง “แพทองธาร ชินวัตร” กลับยังดูมีคะแนนนิยมเป็นรองพิธา ซึ่งอยู่ในขั้วเดียวกัน รวมถึงคนต่างขั้วอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ทั้งๆ ที่อุ๊งอิ๊งก็ใช้เวลาเปิดตัว แสดงบทบาท และโชว์วิสัยทัศน์ของตนเอง มาได้พักใหญ่

ในสถานการณ์เช่นนี้ แคนดิเดตนายกฯ อีกคน (เช่น “เศรษฐา ทวีสิน”) ดูจะมีความสำคัญต่อพรรคเพื่อไทยมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ชัดเจนสำหรับบริบทกลางทศวรรษ 2560 ก็คือ สนามเลือกตั้ง กทม. ได้กลายมาเป็นฐานที่มั่นของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

หลังจากเคยถูกยึดครองโดยพรรคฝ่ายอนุรักษิยมตลอดทศวรรษ 2550 กระทั่งในการเลือกตั้ง 2562 ก็ยังมีคนลงคะแนนเสียงกลุ่มใหญ่ ที่ฝากความหวังไว้กับพรรคพลังประชารัฐและ “ลุงตู่”

ขณะที่ในฝั่ง “ผู้มีคะแนนตามหลัง” ก็มีเรื่องชวนคิดอยู่พอสมควร

ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งก่อน ได้เกิดปรากฏการณ์ที่โหวตเตอร์ฝั่งขวาพร้อมใจกัน “เท” พรรคประชาธิปัตย์ แล้วหันไปหนุนพลังประชารัฐ จนพรรคแรกสูญพันธุ์จากเมืองหลวงอย่างบอบช้ำ

กระแสเช่นนั้นดูเจือจางลงไปในการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯ และจากผลโพลของนิด้า ก็ยิ่งเห็นชัดเจนว่าประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐได้กลับมาเป็นสองตัวเลือกที่สูสีกันในสายตาประชากรฝั่งอนุรักษนิยม

เรื่องสุดท้ายที่ยากปฏิเสธ คือ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ยังคงเป็นตัวเลือกผู้นำทางการเมืองที่แข็งแรงที่สุดของฝ่ายขวา-อนุรักษนิยม

จึงมิใช่เรื่องง่ายที่จะตัดเขาทิ้งจากสมการการเมืองชุดใหม่หรือผลักไสเขาออกจากพรรคพลังประชารัฐ

และการจะมีนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งได้แค่ครึ่งเทอมหลังการเลือกตั้งหนหน้า ก็อาจไม่ใช่เรื่องโจ๊กที่อำกันเล่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image