สถานีคิดเลขที่ 12 : ด่านแรก 25 ที่นั่ง

สถานีคิดเลขที่ 12 : ด่านแรก 25 ที่นั่ง ยังไม่ชัดเจนถึงอนาคตทางการเมือง

ยังไม่ชัดเจนถึงอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังจากเสร็จสิ้นจากภารกิจเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเอเปค ที่ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

เพราะตราบใดที่ยังไม่มีคำยืนยันออกจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะประกาศจุดยืนและทิศทางทางการเมืองว่าจะไปต่อกับพรรคการเมืองใด โมเมนตัมของผู้ที่เกี่ยวข้องในทางการเมือง

จึงยังไม่สามารถเปิดหน้าเลือกจุดยืนทางการเมืองของแต่ละฝ่ายได้ด้วยเหมือนกัน

ที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นแค่กระแสข่าวที่ระบุว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยได้เปิดใจและพูดคุยถึงทิศทางการเมืองในอนาคต และ พล.อ.ประยุทธ์ได้มาลาเพื่อไปทำงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยจะมีการเปิดแถลงข่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

Advertisement

ขณะเดียวกันยังจะมี ส.ส.ของทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รวมถึง 72 คน ย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไปยังพรรคดังกล่าวด้วย พร้อมกับเดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ โดยตั้งเป้า ส.ส.ไว้ที่ 15 คน จากทั้งหมด 58 เขตเลือกตั้ง

เมื่อยังไม่มีความชัดเจนจากปากของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเลือกไปต่อในทางการเมืองกับพรรคใด จะด้วยยุทธศาสตร์การเมือง “แยกกันเดินร่วมกันตี” จริงหรือไม่

เวลานี้จึงมีเพียงการวิเคราะห์ถึงผลดี-ผลเสีย ถึงแนวทางการไปต่อในทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเลือกกลยุทธ์ไหน

Advertisement

ถ้าเลือกยุทธศาสตร์เดินกันคนละพรรค แยกกันสร้างดาวคนละดวง เพื่อหวังแก้เกมและปัญหาภายใน ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พรรค พปชร. ก็ต้องมาลุ้นกันว่า ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดินร่วมกันตี” ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า จำนวน ส.ส. ที่พรรค พปชร. และพรรค รทสช. จะได้ตามเป้าหมาย เพียงพอที่จะมาร่วมกันฟอร์มทีมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้อีกครั้งหรือไม่

เพราะจากที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ออกมาในทิศทางเดียวกันว่า แม้ว่าคะแนนนิยมส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีมากกว่า คะแนนนิยมของพรรค พปชร. จากผลสำรวจของนิด้าโพล

และอาจจะไปเพิ่มคะแนนเสียงให้กับพรรค รทสช. หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจไปร่วมงานด้วย แต่จำนวน ส.ส.ที่คาดว่าจะได้รับภายหลังการเลือกตั้ง ยังคงต้องลุ้นให้ผ่านด่านแรกตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 กำหนดไว้ว่า พรรคที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภาร่วมโหวตเลือกนั้น จะต้องได้ 25 เสียงขึ้นไป

พรรค รทสช.ที่ประเมินกันว่าจะมีฐานเสียงสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในพื้นที่ภาคใต้ที่มีเค้กให้แต่ละพรรคได้ชิงชัยกันเพียง 58 เขต โอกาสที่จะได้เสียง ส.ส.กลับมาเป็นกอบเป็นกำ ย่อมเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะต้องชิงชัยกับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีฐานเสียงทับซ้อนกัน ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรค พปชร. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ประกาศจะปักธง ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้

เทียบไม่ได้กับสัดส่วนของจำนวน ส.ส. ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีถึง 132 ที่นั่ง แต่คะแนนนิยมของพรรค รทสช. ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังอยู่ในสภาพ

ต้องลุ้นเหนื่อย

ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดินร่วมกันตี” จะได้ผลหรือไม่ ผลเลือกตั้งจะเป็นคำตอบ

จตุรงค์ ปทุมานนท์

 

อ่านข่าวอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image