สถานีคิดเลขที่ 12 : อนุสนธิจากความล้มเหลว ของ ‘เยอรมนี’

อนุสนธิจากความล้มเหลว ของ‘เยอรมนี’

สถานีคิดเลขที่ 12 : อนุสนธิจากความล้มเหลว ของ ‘เยอรมนี’

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ทีมอินทรีเหล็ก-เยอรมนี ถือเป็นชาติที่แข็งแกร่งในการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ เห็นได้จากการคว้าตำแหน่งแชมป์โลกมาครองได้ถึง 4 สมัย และครองแชมป์ยุโรปได้อีก 3 สมัย

ไม่ต้องนับรวมกับการเข้ารอบลึกๆ ในรายการระดับเมเจอร์ได้อยู่เป็นประจำในลักษณะ ของตาย

กระทั่ง แกรี่ ลินิเกอร์ อดีตดาวซัลโวฟุตบอลโลกชาวอังกฤษ ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลความสำเร็จของทีมเยอรมนีในตลอดชีวิตการค้าแข้งของตนเอง เคยกล่าวคำคมติดตลกเอาไว้ว่า กีฬาฟุตบอลคือการแข่งขันที่เรียบง่าย มันก็แค่การให้ผู้เล่น 22 คนลงไปวิ่งไล่แย่งลูกบอลกันในเวลา 90 นาที แล้วสุดท้าย พวกเยอรมันก็จะเป็นผู้ชนะเสมอ

อย่างไรก็ตาม หลังคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 ฟอร์มการเล่นของทีมชาติเยอรมนีกลับตกต่ำลงผิดหูผิดตา ไม่ใช่แค่การพลาดแชมป์รายการต่างๆ แต่พวกเขาถึงขนาด ตกรอบแรกฟุตบอลโลก สองครั้งติดต่อกัน จากปี 2018 ถึงปี 2022

Advertisement

ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องราวที่ผิดปกติอย่างยิ่ง ในประสบการณ์ของแฟนบอลรุ่นอายุ 30-40 ปีขึ้นไป

เท่าที่ติดตามอ่านบทความ-รายงานข่าวของสื่อต่างชาติ การวิเคราะห์ความล้มเหลวของทีมชาติเยอรมนีในฟุตบอลโลกที่กาตาร์ จะถูกแบ่งแยกออกเป็นสองแนวคิด

แนวคิดแรก คือ การประเมินว่าการตกรอบแรกฟุตบอลโลกอีกครั้ง ถือเป็นหนึ่งในอาการที่สำแดงออกมาจาก สภาวะป่วยไข้ระยะยาว ของวงการลูกหนังเยอรมัน

Advertisement

สภาวะป่วยไข้ระยะยาวที่ว่า ก็คือ การไม่มีศักยภาพในการผลิตนักฟุตบอลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับโลกการแข่งขันยุคใหม่ และการไม่สามารถผลิตนักเตะรุ่นใหม่ๆ ซึ่งมีคุณภาพหลากหลายได้มากเพียงพอ

ผู้สันทัดกรณีและแฟนบอลต่างวินิจฉัย อาการป่วยไข้เรื้อรัง ของทีมอินทรีเหล็ก ผ่านลักษณะของโรคที่แตกต่างกันไป

หลายคนเห็นตรงกันว่าทีมเยอรมนีชุดนี้ขาดกองหลังตัวกลางคุณภาพสูง และไร้ศูนย์หน้าตัวเป้าที่ไว้วางใจได้

ขณะที่คอลัมนิสต์บางรายและ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ อดีตกองกลางทีมชุดแชมป์โลกปี 2014 มองว่า ทีมเยอรมนีชุดใหม่ขาดผู้เล่นที่มีบุคลิกภาพเป็น ผู้นำ

ด้าน ฮานซี่ ฟลิก โค้ชทีมชาติเยอรมนี ก็ยอมรับตรงๆ ว่าวงการลูกหนังสเปนกับอังกฤษกำลังนำหน้าเยอรมนีไปไกล ในเรื่องการพัฒนานักฟุตบอลระดับเยาวชน

ส่วน โธมัส ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ อดีตนักเตะทีมชาติเยอรมนี ก็ตั้งคำถามไว้อย่างคมคายว่า จริงๆ แล้ว พวกเรามีนักเตะดีๆ เป็นจำนวนมากอย่างที่เราคิดกันจริงๆ หรือ?

ก่อนที่เขาจะตอบคำถามของตัวเองว่า ผมไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นอย่างที่เราคิด

อีกด้านหนึ่ง ก็ยังมีคนมองว่าการตกรอบแรกในฟุตบอลโลก 2022 ของทีมชาติเยอรมนี นั้นเป็นแค่ อุบัติเหตุเฉพาะจุด ที่ไม่มีอะไรจะต้องถูกเยียวยา-แก้ไขในระยะยาว หรือในเชิงโครงสร้าง

แนวคิดนี้พุ่งเป้าการวิจารณ์ไปยังหัวหน้าโค้ชอย่าง ฮานซี่ ฟลิก ซึ่งพยายามนำเอาวิธีการเล่นฟุตบอลในแบบที่ทำให้เขาเคยประสบความสำเร็จสมัยคุมสโมสร บาเยิร์น มิวนิค มาใช้กับทีมชาติ

ทั้งๆ ที่คุณภาพผู้เล่นโดยรวมของบาเยิร์นฯ กับทีมชาติเยอรมนีนั้นมีความแตกต่างกัน และบรรดานักเตะที่มาเข้าแคมป์ทีมชาติในระยะสั้นๆ ก็ไม่มีเวลามากพอที่จะซักซ้อมทำความเข้าใจแผนการเล่นของฟลิกร่วมกัน

ดังที่ อิลคาย กุนโดกัน มิดฟิลด์จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เปิดเผยว่า (เยอรมนีชุดนี้) ยังไม่สามารถเล่นเป็นทีมได้

นับจากนี้ ไม่แน่ใจว่าทีมชาติเยอรมนีจะไป รีสตาร์ต-ตั้งต้นใหม่ กันตรงจุดไหน? แต่ถ้าพวกเขาวิเคราะห์สภาพปัญหาผิดจุด ภาวะล้มเหลวซ้ำซากก็คงเกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ

นี่คือ บทเรียน ที่น่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับงานชนิดอื่นๆ ในบริบทอื่นๆ ได้ด้วย

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image