สถานีคิดเลขที่ 12 : เพิ่มงบท้องถิ่น

บอกแล้วให้ฟังการอภิปรายในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกท้องถิ่น

แม้งานนี้จะนำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แต่พลังผลักดันจริงๆ คือ ประชาชนที่เข้าชื่อกันกว่า 7 หมื่นคน

และที่น่าสนใจคือมีนักวิชาการที่เกาะติดด้านการกระจายอำนาจนำเสนอด้วย

นายวีระศักดิ์ เครือเทพ จากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเงินการคลังของท้องถิ่นมานาน

Advertisement

ข้อเสนอของอาจารย์วีระศักดิ์นั้นน่าสนใจมาก

อาจารย์บอกว่า ท้องถิ่นมีภารกิจที่ต้องทำมากมาย เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ควรจะได้จากภารกิจที่ได้รับมอบ พบว่า ท้องถิ่นควรจะได้รับงบประมาณ ร้อยละ 45 ไม่ใช่ร้อยละ 35 อย่างที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

นั่นเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับข้อครหาก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า ส่วนกลางชอบโยนงานให้ แต่กั๊กเงินเอาไว้

Advertisement

ทั้งนี้ ตัวเลขร้อยละ 45 นั้นเป็นความจำเป็นเมื่อปี 2560 หากมองไปอนาคต ความจำเป็นต้องใช้งบของท้องถิ่นกับภารกิจที่ได้รับ คงต้องเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 50

สำหรับโครงสร้างรายได้ของท้องถิ่น ประกอบด้วย 1.รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง 2.รายได้จากภาษีรัฐบาลจัดเก็บให้ 3.รายได้จากภาษีที่รัฐบาลแบ่งให้ และ 4.เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

อาจารย์บอกว่า เราสามารถเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่นอย่างเป็นธรรมได้ โดยส่วนกลางต้องยอมแบ่งเค้กก้อนใหญ่

หนึ่ง คือ ภาษีเงินได้ หนึ่ง คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปีๆ รวมๆ ประมาณ 9 แสนล้านบาท

ภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้เก็บจากคนทั้งประเทศ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ท้องถิ่น แต่ไม่เคยแบ่งให้ท้องถิ่น

อาจารย์จึงเสนอให้แบ่งเค้ก

เช่น แบ่งภาษีเงินได้ครึ่งหนึ่งให้ท้องถิ่น ซึ่งคาดการณ์วงเงินว่าจะได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท

และแบ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเดิมส่วนกลางแบ่งให้ท้องถิ่นน้อยมาก ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

ข้อเสนอใหม่อยากเห็นท้องถิ่นได้รับส่วนแบ่งมากขึ้น เช่น จากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ แบ่งให้ท้องถิ่น 2 เปอร์เซ็นต์ ได้ไหม เป็นต้น

ขณะที่หารายได้ให้ท้องถิ่นแล้ว ก็มอบภารกิจให้ท้องถิ่นตามไปด้วย

ยกตัวอย่างภารกิจเดิมที่ท้องถิ่นทำอยู่แต่ยังไม่ครอบคลุม นั่นคือด้านสุขภาพ และการศึกษา

อาจารย์วีระศักดิ์ยังเชื่อมั่นว่า ภารกิจการรักษาพยาบาลขั้นปฐมภูมิ หรือทุติยภูมิ และภารกิจการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งท้องถิ่นหลายแห่งพิสูจน์แล้วว่าทำได้ดี น่าจะดำเนินการต่อไป

งบประมาณที่ได้เพิ่มขึ้นน่าจะนำไปใช้จ่ายกับภารกิจเช่นนี้

ในการประชุมยังมีผู้คลุกคลีงานท้องถิ่นนำเสนอข้อมูล

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ให้ข้อมูลว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2562 พบว่า ระดับเทศบาล มีนายกคนเก่าสอบตก 67.33 เปอร์เซ็นต์ ระดับ อบต. มีนายกคนเก่าสอบตก 67.19 เปอร์เซ็นต์ ระดับ อบจ. คนเก่าสอบตก 53 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลดังกล่าวยืนยันว่า ประชาชนทั่วประเทศพร้อมที่จะเปลี่ยนนายก หากคนใหม่ดีกว่าคนเดิม

สอดคล้องกับข้อมูลจากหนังสือ “อุปถัมภ์ค้ำใครฯ” ของ อาจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ที่พบว่า การเลือกตั้งทำให้เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลมีบทบาทที่เปลี่ยนไป

ฟังเรื่องการกระจายอำนาจแล้วสนุก แม้ทำใจว่าผลโหวตในสัปดาห์นี้จะไม่ผ่าน

ตอกย้ำความเชื่อที่ว่า ไม่มีผู้มีอำนาจที่อยากแบ่งอำนาจให้ผู้อื่น

แต่ก็จะได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์รัฐสภา

คนที่ชอบอ้างว่าทำเพื่อประชาชน สุดท้ายมีความเห็นกับการกระจายอำนาจอย่างไร

หนุนหรือค้านกับการมอบอำนาจให้ท้องถิ่น

หนุนหรือค้านกับการกระจายอำนาจให้ประชาชน

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image