สถานีคิดเลขที่ 12 : ค่าแรงขั้นต่ำ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ค่าแรงขั้นต่ำ การโยนนโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท”

สถานีคิดเลขที่ 12 : ค่าแรงขั้นต่ำ

การโยนนโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท” ออกสู่สาธารณะของพรรคเพื่อไทย ถือเป็น “โครงการทางการเมือง” ที่ก่อให้เกิดทั้งความหวัง และวิวาทะในสังคม

ถ้าตัด “การค้านแบบหัวชนฝา” ของคู่แข่งทางการเมืองออกไป ก็ต้องยอมรับว่ามีหลายฝ่ายที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยในเชิงหลักการ เพียงแต่อาจยังไม่มั่นใจหรือมีความเห็นแตกต่างกันบ้างตรงเรื่องวิธีการหรือตัวเลขที่เหมาะสม

ดังเช่นที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพิ่งให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ไว้ในรายการ “เอ็กซ์อ๊อก Talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ว่า

Advertisement

“ผมคิดว่ามองในมุมของธุรกิจ (ผู้ประกอบการ) จะเกิดช็อกแน่ๆ เลย เพราะว่าค่าแรง (ขั้นต่ำ 600 บาท) มันสูงขึ้นเยอะมาก

“วิธีการที่ผมว่ามันจะได้สมดุล คือ คนงานได้ค่าจ้างที่เหมาะสม ธุรกิจปรับตัวทันได้ด้วย ต้องมีระบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งต่อรองกันครั้งใหญ่ แล้วกำหนดเป็นสูตรไว้

“วิธีหนึ่งที่ผมคิดว่าตรงไปตรงมาในทางวิชาการ ก็คือการดูว่าผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นสักขนาดไหน? ส่วนนี้ถ้าเกิดคนงานทำงานได้เก่งขึ้น ควรตกเป็นของคนงาน กับอีกส่วนก็คือเงินเฟ้อ ขึ้นเยอะ (หรือ) ขึ้นน้อย? ปีนี้เป็นปีที่เงินเฟ้อขึ้นเยอะ เพราะฉะนั้นมันควรสะท้อนในค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น

Advertisement

“โดยหลักวิชาแล้ว ควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (ด้วยการ) หาจุดที่เหมาะสมจุดหนึ่งที่ทำให้คนงานอยู่ได้ นายจ้างอยู่ได้ ค่านี้ (ต้อง) ศึกษาในทางวิชาการกัน แล้วก็เข้าสู่กระบวนการทางการเมือง กำหนดเป็นค่าค่าหนึ่งขึ้นมา จะ 400 บาท 450 บาท อะไรก็ว่ากันไป

“เมื่อได้ค่าค่านี้แล้ว การปรับแต่ละปีเพิ่มขึ้นตามอัตราการเพิ่มของผลิตภาพบวกกับอัตราเงินเฟ้อในปีนั้น ถ้าปรับอย่างนี้ ธุรกิจก็จะอยู่ได้ และเห็นเลยครับว่าต่อไปค่าจ้างแรงงานมันจะสูงขึ้นเร็วช้าแค่ไหน? ธุรกิจก็จะรู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร?

“ธุรกิจใช้แรงงานเยอะๆ จะย้ายไปประเทศค่าแรงราคาถูกกว่า จะใช้แรงงานต่างด้าว หรือจะใช้เครื่องจักร หรือจะเปลี่ยนอาชีพเปลี่ยนธุรกิจเลย ธุรกิจก็จะได้วางแผนได้ถูก

“คนงานก็จะวางแผนชีวิตได้ แล้วทำให้การปรับตัวมันง่ายกับทุกฝ่าย (เพราะ) มันพยากรณ์ได้”

ปัญหาสำคัญสุดเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ของไทย จากมุมมองของประธานทีดีอาร์ไอ ก็คือ การไม่มีสูตรคำนวณที่แน่ชัด

“ปัจจุบัน ไม่ได้มีสูตร (คำนวณค่าแรงขั้นต่ำ) ที่ชัด แต่ว่ามีตัวแปรต่างๆ ที่กรรมการค่าแรงขั้นต่ำก็ดูกันอยู่ ก็มีสองตัวแปรที่ผมพูดถึง มีเรื่องเงินเฟ้อ มีเรื่องผลิตภาพหรือประสิทธิภาพแรงงานอยู่ด้วย แต่ก็มีบวกกับ ‘สารพัดตัวแปร’ พอมีตัวแปรเยอะๆ เข้าแล้วไม่เป็นสูตร สุดท้ายการตัดสินใจก็ขึ้นกับกรรมการไตรภาคี

“ไตรภาคีก็จะมีฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง ซึ่งมองคนละทาง เพราะฉะนั้น คนฟันธงสุดท้ายคือฝ่ายรัฐบาล ปรากฏว่าการตัดสินใจที่ผ่านๆ มา ก็จะออกลักษณะที่ว่ารัฐบาลไม่อยากให้ขึ้น เพราะกลัวว่าไม่มีคนมาลงทุนในประเทศ กลัวว่าธุรกิจเดินไม่ได้

“สุดท้าย คนรับภาระนานก็คือแรงงาน พอเกิดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็เห็นว่านี่คือ ‘pain point’ เห็นคนเดือดร้อนเยอะ ก็ขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดกันอย่างที่เป็นอยู่ …

“ประเด็นที่ผมคิดว่ามันเป็นปัญหามานานในประเทศไทย ก็คือ การขึ้นมันขึ้นแบบก้าวกระโดด แล้วตอนไม่ขึ้น มันก็แช่อยู่นาน มันพยากรณ์ไม่ได้ คนวางแผนชีวิตไม่ได้ ตัวนี้ครับเป็นตัวปัญหาใหญ่ …

“พอได้กำหนดจุด (ค่าแรงขั้นต่ำ) ที่มันเหมาะสมได้ หลังจากนั้น สูตรในการปรับควรเป็นสูตรที่อัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ อย่ามีดุลพินิจเกินไป น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด”

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image