สถานีคิดเลขที่ 12 : จุดแข็ง-จุดขาย

สถานีคิดเลขที่ 12 : จุดแข็ง-จุดขาย การเมืองเข้าสู่โหมดช่วงโค้งสุดท้าย

สถานีคิดเลขที่ 12 : จุดแข็ง-จุดขาย

การเมืองเข้าสู่โหมดช่วงโค้งสุดท้ายที่พร้อมจะนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าได้ทุกเมื่อ รอเพียงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. … มีผลบังคับใช้

ทุกพรรคจึงต้องเตรียมทั้งผู้สมัคร ส.ส. และทรัพยากรต่างๆ ให้อยู่ในสภาวะพร้อมเลือกตั้งให้มากที่สุด ผ่าน “จุดแข็ง” และ “จุดขาย” ที่คิดว่าจะเป็นตัวชี้ขาดผลแพ้-ชนะ การเลือกตั้งครั้งหน้า

นั่นคือ 1.นโยบายโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง 2.รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และ 3.ตัวผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ

Advertisement

ส่วนพรรคใดที่คิดว่ามีนอกเหนือจาก 3 ประเด็น ที่จะเป็นตัวชี้ขาดผลแพ้-ชนะการเลือกตั้ง ย่อมเป็นโจทย์ให้พรรคการเมืองนั้นๆ ต้องไปคิดต่อ

บางพรรคจึงเริ่มเปิดนโยบายเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องออกมาสื่อสารให้ประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับรู้ถึงแนวทาง ความเป็นไปได้ของการเดินหน้านโยบายดังกล่าว

อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดแคมเปญ “คิดใหญ่ ทำเป็น” ผ่าน 10 นโยบายหลักแต่ที่สังคมและประชาชนให้การตอบรับ เกิดการถกเถียงว่าจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ คือ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ภายในปี 2570 และนโยบายเงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรี เดือนละ 25,000 บาท โดยแกนนำพรรค พท.ชูจุดแข็งถึงความมีประสบการณ์ ขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นจริงมาแล้ว ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน อีกทั้งนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท จะทยอยปรับขึ้นตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศซึ่งวางกรอบไว้ถึงปี 2570 คือ วาระการทำหน้าที่ 4 ปี ของรัฐบาลชุดใหม่

Advertisement

การนำเสนอชุดนโยบายผ่านพรรคการเมืองนั้น ถือเป็นสิทธิของแต่ละพรรคสามารถนำเสนอได้ ผ่านกลไกการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

บางพรรคจึงต้องรอทั้งจังหวะและเวลาทางการเมือง ในการเปิดนโยบายที่คิดว่าจะเป็น “จุดแข็ง” และ “จุดขาย” ตรงใจกับความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด

สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ที่สอบถามประชาชนทุกสาขาอาชีพ ระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคมที่ผ่านมา ในหัวข้อ “เปิดใจคนไทย อนาคตการเมือง”

โดยเมื่อถามถึงความต้องการเร่งด่วนของประชาชนต่อรัฐบาลอนาคตหลังการเลือกตั้ง พบว่าร้อยละ 70.4 ต้องการให้แก้ปัญหาปากท้อง เรื่องรายได้ อาชีพ

ร้อยละ 62.1 ต้องการให้แก้ปัญหาสุขภาพ ค่าใช้จ่ายน้อย เข้าถึงง่าย อยู่ใกล้ สะดวก ร้อยละ 61.8 ต้องการให้แก้ปัญหาหนี้สิน พักหนี้ ปลดหนี้

ร้อยละ 48.9 ต้องการให้แก้ปัญหาพลังงาน ราคาแพง เช่น ไฟฟ้า น้ำมัน

จากคำตอบที่ประชาชนมีความต้องการและคาดหวังต่อรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้ง 4 เรื่องข้างต้น ล้วนเกี่ยวข้องต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องทั้งสิ้น

หากจะวิเคราะห์ว่า คำตอบที่ประชาชนตอบแบบสอบถามมานั้น สะท้อนถึงการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจว่าเป็นที่พอใจหรือไม่

ถ้ามั่นใจว่าที่ผ่านมาบริหารงาน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องทำได้ดีแล้ว เลือกตั้งครั้งหน้าก็ชูนโยบาย “จุดแข็ง” และ “จุดขาย” ด้านอื่น

ให้ประชาชนตัดสินใจ ผ่านผลการเลือกตั้ง

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image