สถานีคิดเลขที่ 12 : มองคนเห็นต่าง

สถานีคิดเลขที่ 12 : มองคนเห็นต่าง ใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

ใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ รอเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการเมื่อใด

เพราะหลังจากประกาศยุบสภาแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องเสนอให้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

การเลือกตั้ง ส.ส.นับจากนี้ไป การลงพื้นที่หาเสียงไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งการปราศรัยขอเสียง รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ ดิสเครดิตคู่แข่งขันทางการเมืองจะมีสารพัดทุกรูปแบบ อยู่ที่ว่าแกนนำและผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรคจะรับมือการแสดงออกของผู้สนับสนุน และคัดค้านกันอย่างไร

อย่างล่าสุดในการลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ มีกรณีของผู้มีความเห็นต่างอย่าง น.ส.วันทนา โอทอง ชาว อ.บ้านโป่ง มารอแสดงออกทั้งการชู 3 นิ้ว ตะโกนด่าทอ เพื่อแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการลงพื้นที่ของนายกฯ

Advertisement

แม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่ออกมาต่อต้านการลงพื้นที่ของนายกฯ แต่การปฏิบัติการในการควบคุมกลุ่มคนที่มาคัดค้าน จะด้วยยุทธวิธีหรือกลยุทธ์ใด แต่ภาพที่ออกมากลับเป็นเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวาย ทั้งกระชากลากถู อุ้มตัว ปิดปากหญิงคนดังกล่าว

อีกทั้งยังมีการพยายามกางร่มเพื่อปิดกั้นภาพความวุ่นวายไม่ให้มีการนำเสนอออกไปผ่านทั้งภาพและข่าว แต่สุดท้ายย่อมไม่สามารถปิดกั้นในเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้

กลายเป็นประเด็นใหญ่กว่าประเด็นการลงพื้นที่ของนายกฯ จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงเส้นแบ่งการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลความปลอดภัยของนายกฯ ว่าอยู่ในความ “พอดี” หรือ “เกินกว่าเหตุ”

Advertisement

ฝ่ายหนึ่งมองว่า หากพูดคุยทำความเข้าใจ ควบคุมให้หญิงคนดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนจะแสดงออกทางสัญลักษณ์ หรือกล่าวถ้อยคำอะไร หากรุนแรงเกินเลยก็ควรดำเนินคดีไปตามกฎหมายบ้านเมือง เพราะสุดท้ายอย่างไรเสีย นายกฯย่อมต้องผ่านจุดประท้วงไปอยู่แล้ว คงไม่หยุดมาประจันหน้า หรือโต้เถียงกับผู้ที่คัดค้านเป็นแน่

ขณะที่ท่าทีของผู้นำที่มองและสะท้อนมายังคนเห็นต่าง แน่นอนมนุษย์ย่อมมีเลือดเนื้อ ความรู้สึก รัก ชอบ ถูกใจ ไม่ถูกใจ ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ท่าทีโดยเฉพาะผู้คุมอำนาจรัฐที่ต้องดูแลรับผิดชอบความสงบเรียบร้อยของสังคม ต้องมีความหนักแน่น ต้องใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในการดูแลผู้ที่มีความเห็นต่างไม่ให้เลยเถิดไปเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งดังกล่าวเสียเอง

ยิ่งเข้าสู่ไทมิ่งการเลือกตั้งมากเท่าใด ภาพของการ “สนับสนุน” และ “ประท้วง” บุคคลและพรรคการเมืองจะยิ่งทวีความเข้มข้นตามไปด้วย

ถ้าอยากจะเห็นการเลือกตั้งเป็นทางออกของความเห็นต่าง จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในการร่วมกันสร้างบรรยากาศดังกล่าวให้เกิดขึ้น

สำคัญที่สุดคือ การเคารพฉันทามติผ่านผลการเลือกตั้งที่จะออกมา

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image