บทบาทของ‘เศรษฐา’ บทใหม่ของ‘เพื่อไทย’

บทบาทของ‘เศรษฐา’
บทใหม่ของ‘เพื่อไทย’

ภาพลักษณ์และการแสดงวิสัยทัศน์ใหม่ๆ โดย เศรษฐา ทวีสิน บนเวที “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถือเป็น “การเติมเต็ม”

กล่าวคือ เป็นการเติมเต็มสิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่มี-ขาดหายไป หรือถึงเคยมีสิ่งนั้นอยู่ ก็ยังขาดบุคลากรระดับนำของพรรคที่จะสามารถสื่อสารเรื่องดังกล่าวออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยนำมาเติมเต็มให้พรรค ก็ได้แก่ นโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนหลักสิทธิมนุษยชนในสังคมร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการยกเลิกเกณฑ์ทหาร

Advertisement

ระหว่างฟังเศรษฐาพูดบนเวทีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ด้านหนึ่ง ก็เกิดคำถามขึ้นนิดหน่อยว่าบรรดาผู้สมัคร ส.ส.เขตส่วนใหญ่ของพรรคเพื่อไทยจะนำนโยบายใหม่ๆ เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน?

หากเทียบกับนามสกุล “ชินวัตร” ของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยอย่าง แพทองธาร รวมทั้งนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท หรือนโยบายเติมรายได้ 20,000 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว ที่คล้ายจะจับต้องได้มากกว่าผ่านตัวเลขซึ่งปรากฏออกมา

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าวิสัยทัศน์ของเศรษฐานั้นมีพลังไม่น้อยสำหรับประชากรในเขตเมืองและเหล่าคนรุ่นใหม่ ที่ยึดถือคุณค่าแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย เชื่อมั่นในอัตลักษณ์อันหลากหลาย และเติบโตมากับโลกออนไลน์

Advertisement

ในแง่การแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ไอเดียของหนึ่งในว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย คือการมุ่งเจาะขยายเข้าไปยังพื้นที่กรุงเทพมหานคร, เขต 1 อันเป็นตัวเมืองของจังหวัดต่างๆ รวมถึงบรรดาเมืองมหาวิทยาลัย

พื้นที่ กทม. ซึ่งแม้พรรคเพื่อไทย (หรือพลังประชาชน) จะมี ส.ส.มาโดยตลอด ทว่า สถานภาพความเป็น “พรรคอันดับหนึ่งในใจคนเมืองหลวง” ที่พรรคไทยรักไทยเคยครอบครองไว้ในทศวรรษ 2540 ก็สูญสลายไปนับแต่ยุคสงครามเสื้อสี

เช่นเดียวกับการที่พรรคเพื่อไทยต้องเสียเก้าอี้หรือเกือบพลาดท่าเสียทีในเขต 1 หรือเมืองมหาวิทยาลัยของบางจังหวัด เมื่อการเลือกตั้งหนก่อน

ในแง่การสื่อสารทางการเมือง ถ้าย้อนไปเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 “น้ำเสียงแบบเศรษฐา” จะเป็นเสียงที่ดังออกมาจากพรรคการเมืองแค่พรรคเดียว คือ อนาคตใหม่

หรือแม้กระทั่งถ้าเราได้ติดตามฟังการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่กำลังจะสิ้นสุดวาระลง “น้ำเสียงเช่นนี้” ก็มักถูกสะท้อนออกมาจาก ส.ส.ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก

ความท้าทายประการสำคัญของพรรคเพื่อไทยและเศรษฐา ก็คือ ถ้าเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง มีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล หรือมี ส.ส.เกินครึ่งสภา

นโยบายที่ก้าวหน้าซึ่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยประกาศเอาไว้ จะถูกนำไปลงมือทำและรณรงค์ขับเคลื่อนต่ออย่างมีศักยภาพแค่ไหน?

เพราะยังไม่มีใครมั่นใจเต็มร้อยว่า แกนนำคนอื่นๆ รวมถึง ส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรค จะเข้าใจเรื่องพวกนี้อย่างกระจ่างแจ้ง และสมาทานหลักการ-คุณค่าใหม่ๆ อย่างแน่วแน่จริงจังเหมือนเศรษฐา

เข้าใจว่า จริงๆ แล้ว พรรคเพื่อไทยมีคณะทำงานในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นอยู่ไม่น้อย แต่ไม่แน่ใจว่าบุคลากรกลุ่มดังกล่าวจะมีตำแหน่งแห่งที่อย่างไร? และจะมีโอกาสเข้าไปทำงานในสภาบ้างหรือไม่? ภายหลังการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หากให้ประเมิน ณ ปัจจุบัน ต้องนับว่าพรรคเพื่อไทยได้พยายามขยับเคลื่อนเข้ามาร่วมแสดงบทบาทที่พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล เคยยึดกุมบทนำไว้เพียงพรรคเดียว อย่างน่าสนใจ

เป็นการเปิดประเดิมบทตอนใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นเร้าใจพอสมควร

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image