สถานีคิดเลขที่ 12 : ใครจะชนะเลือกตั้ง

ผลสำรวจจากโพลต่างๆ ตั้งแต่กลางเดือน เม.ย.เป็นต้นมา จะพบว่า พรรคการเมืองที่มีคะแนนนิยมพุ่งแรง คือ เพื่อไทยและก้าวไกล

โพลมติชนXเดลินิวส์ที่เปิดผลสำรวจไปแล้ว ก็ระบุถึงทิศทางดังกล่าว

และตั้งแต่ 22-28 เม.ย.นี้ โพลมติชนXเดลินิวส์ จะสำรวจความคิดเห็นประชาชนอีกครั้ง โดยมีคำถามต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในสนามเลือกตั้ง

หลังจากพรรคต่างๆ เปิดตัว เปิดนโยบาย ตั้งเวทีปราศรัยและเดินสายพบประชาชนมาระยะหนึ่งแล้ว

Advertisement

การโหวตในโพลรอบสอง จะเป็นการโหวตออนไลน์ คล้ายกับครั้งแรก ขอเชิญชวนผู้อ่านสื่อเครือมติชน และเดลินิวส์ มาแสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่า แนวโน้มของการเมืองประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ประเด็นของการเมืองประเทศไทยในเดือน เม.ย.ต่อเนื่องไปถึงเดือน พ.ค. ยังคงเป็นเรื่องของการคาดการณ์ว่า พรรคไหนจะชนะเลือกตั้ง และชนะ แบบไหน

การชนะแบบแลนด์สไลด์ จะเกิดขึ้นหรือไม่

Advertisement

ถ้าประมวลจากสถานการณ์ในขณะนี้ หากผลแพ้ชนะเกิดขึ้นตามแนวโน้มของโพล ก็จะสะท้อนความคิดความรู้สึกของประชาชน ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง

ความคิดของประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง แล้วเข้าไปโหวตหรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับการเมืองในประเทศต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

การเลือกตั้ง คือโอกาสในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในชีวิตของประชาชนและชีวิตของประเทศ โอกาสในการทดลองทิศทางใหม่ๆ แทนที่จะย่ำซ้ำบนแนวทางเดิมๆ

ปัญหาคือ แล้วกลไกของประเทศ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและกฎกติกาที่เกี่ยวข้อง เปิดโอกาสให้กับการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน

ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ ส.ว. จากการแต่งตั้ง 250 คน
ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

แทนที่จะเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญ 2550 หรือรัฐธรรมนูญ 2540

ในระหว่างใช้รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ พรรคที่ชนะเลือกตั้ง จะได้ตำแหน่ง
นายกฯ และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตามกติกาสากล

ก่อนจะเกิดรัฐประหาร 2557 แล้วคลอดรัฐธรรมนูญ 2560 ออกมา มีทีเด็ดที่บทเฉพาะกาลกำหนดให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ

เพราะฉะนั้น จึงมีการวิเคราะห์วิจารณ์ในขณะนี้ว่า พรรคที่ประชาชนเลือกไปมากๆ แคนดิเดตของพรรคนั้นอาจไม่ได้เป็นนายกฯ และอาจไม่ได้ตั้งรัฐบาลอีก เหมือนกับเลือกตั้ง 2562

เว้นแต่จะเกิดชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ในจำนวนที่มากพอ หรือเกิดความร่วมมือในสภาผู้แทนฯ เพื่อทำให้เสียงของ ส.ว.หมดความหมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเกิดขึ้นในสภาแบบไทยๆ

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขอเชิญมาร่วมโหวตในโพลมติชนXเดลินิวส์รอบ 2 ส่องหาอนาคตการเมืองของประเทศไปด้วยกัน

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image