สถานีคิดเลขที่ 12 : โอกาสใหม่

สถานีคิดเลขที่12 : โอกาสใหม่ กระบวนการตั้งนายกรัฐมนตรีที่ล่าช้ามา 3 เดือนแล้ว

กระบวนการตั้งนายกรัฐมนตรีที่ล่าช้ามา 3 เดือนแล้ว ทำให้ไม่มีรัฐบาลใหม่ ส่งผลกระทบไปทั่วด้าน

สภาผู้แทนฯเอง นับจากเปิดสมัยประชุม มีการประชุมนัดแรก 31 ส.ค.นี้ก็จะครบ 3 เดือนอีกเหมือนกัน

แต่สภาเอง บรรดา ส.ส.ได้พยายามนำปัญหาต่างๆ เข้ามาอภิปราย ถกเถียง ถือว่าช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้ประชาชน

เป็นเสียงจากตัวแทนประชาชนที่มีผล อย่างน้อยก็ช่วยให้รัฐบาลรักษาการ และระบบราชการ ต้องกุลีกุจอทำงานมากขึ้น จะใส่เกียร์ว่างไปเรื่อยๆ ไม่ได้

Advertisement

การประชุมสภาเมื่อวันพุธ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ส.ส.ได้อภิปรายถึงความล่าช้าในการตั้งนายกฯ ตั้ง ครม.ใหม่ ที่กระทบมาถึงการทำงานของสภาด้วย

มีทั้งกฎหมายที่ตกค้างมาจากรัฐบาลก่อน อาทิ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา, ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ไปจนถึงการแต่งตั้งกรรมาธิการสามัญชุดต่างๆ

หลายเรื่องหลายราวที่เกิดขึ้นใน 3 เดือน หลังจากเลือกตั้ง 14 พ.ค. เป็นบทเรียนที่สภาจะต้องเก็บรับไว้ และนำไปเป็นโจทย์ปัญหา เมื่อจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Advertisement

ในอดีต รัฐธรรมนูญ 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มาจาก ส.ส.ร.เลือกตั้ง แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มาจากรัฐประหาร 2549 กำหนดให้สภาผู้แทนฯ เป็นสภาที่มีหน้าที่ตั้งนายกรัฐมนตรี

หลังเลือกตั้ง 2544, 2548, 2550 และ 2554 การตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว รู้ผลเลือกตั้งไม่กี่วันก็ตั้งรัฐบาลได้

ผู้ชนะเลือกตั้งในการเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ว่า คือพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน ที่กลายมาเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

การได้มาซึ่งนายกฯหลังเลือกตั้งทั้ง 4 ครั้ง ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการบางประการ จากขั้วอำนาจและพรรคการเมืองบางพรรค

ในสายตาประชาชน การมีกฎกติกาที่เป็นสากล เป็นประชาธิปไตย ทำให้ได้นายกฯ ได้รัฐบาลเร็วๆ เป็นเรื่องน่าพึงพอใจ เพราะจะได้เข้ามาแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน นโยบายที่หาเสียงไว้ จะได้นำมาปฏิบัติให้เห็นผลเร็วๆ

แต่ในทรรศนะของกลุ่มหรือขั้วอำนาจ กฎกติกาที่ไม่เอื้ออำนวยให้กลุ่มอำนาจ ถือว่าเป็นเรื่อง “เสียของ” ต้องล้ม ต้องรื้อ

งัดเอาวิทยายุทธ์ที่สั่งสม จากการเฝ้าสังเกต จากการอยู่ใน “วงใน” ของอำนาจมาตลอด จนไม่ต้องมองตาก็รู้ใจขั้วอำนาจว่า อยากได้แบบไหนแนวไหน

กลายมาเป็นกฎกติกาที่ผ่านการรื้อแล้วสร้างใหม่ ไม่พอใจก็ต่อเติมแปะเข้าไปด้วยบทเฉพาะกาล

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นอย่างชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ชอบด้วยเหตุผลและความจำเป็น กลายมาเป็นภาระของประชาชน ของสังคมและของประเทศ

ความพยายามเขียนกติกาใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน แต่จะง่ายมากขึ้น หากสังคมไทยช่วยกันแสดงพลังอย่างมีเหตุมีผล ว่าอยากให้ประเทศเดินไปในทิศทางไหน

พลังตกค้างของกลุ่มอำนาจยังมีอิทธิฤทธิ์ และคงสร้างปัญหาได้อีกมากในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านนี้

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image