การเมืองไทยแบบ ‘เก็ตสึโนวา’

การเมืองไทยแบบ‘เก็ตสึโนวา’

การเมืองไทยแบบ ‘เก็ตสึโนวา’

มีคนบอกว่าการเมืองไทยตอนนี้เป็น “การเมืองแบบ (ชื่อ) เพลงของวงเก็ตสึโนวา” ที่บรรดาคนกำหนดเกมเหมือนจะจงใจนำเอาองค์ประกอบที่ย้อนแย้ง-แปลกแยกต่อกัน มาวางชนหรือประกบคู่กันตลอดเวลา

พูดอีกแบบได้ว่า การเมืองไทยนั้นเต็มไปด้วย “ความไม่ตรงไปตรงมา” จนน่าปวดเศียรเวียนเกล้า

เริ่มต้นกันด้วยปัญหาพื้นฐาน คือ เมื่อเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง และรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ กลับไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

Advertisement

และสุดท้าย ก็ถูกถีบออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยซ้ำ

นี่คือความย้อนแย้ง แปลกแยก ไม่ตรงไปตรงมา ประการแรกสุด

ถัดจากนั้น เราก็ได้เห็นพรรคการเมืองที่เป็นสัญลักษณ์-ตัวแทนของ “ขั้วการเมือง” หรือ “มวลชน” ซึ่งขัดแย้งกันอย่างหนักมาตลอดทศวรรษ 2550

Advertisement

(จนนำไปสู่รอยปริแยกแตกร้าวระดับลึกในครอบครัว-วงเพื่อนฝูง-สถาบันทางสังคมอื่นๆ นำไปสู่การมีคนสังเวยชีวิตกลางท้องถนนมากมาย นำไปสู่การมีคนอีกไม่น้อยต้องถูกจับเข้าเรือนจำและสูญสิ้นอิสรภาพของตนเอง นำไปสู่รัฐประหาร)

ประกาศ “สลายขั้ว” เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสมานฉันท์-ปรองดอง ไม่ต้องมีกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ไม่มีการยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และปราศจากฉันทานุมัติของมวลชนทั้งสองฝ่าย

ราวกับว่าการ “สลายความขัดแย้ง” ดังกล่าว สามารถกระทำได้ด้วยการแบ่งสรรปันส่วนเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี

นี่คือความย้อนแย้ง แปลกแยก ไม่ตรงไปตรงมา ประการที่สอง

ยิ่งกว่านั้น ในวันที่ 22 สิงหาคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันชี้ชะตาทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เพราะจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกันอีกรอบที่รัฐสภา

แต่อีกด้านหนึ่ง กลับมีข่าวใหญ่ (กว่า?) เรื่องอดีตนายกรัฐมนตรีอีกคนจะเดินทางกลับบ้านในเช้าวันเดียวกัน โดยปฏิเสธได้ยาก ว่านี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่มีความข้องเกี่ยวยึดโยงกับการโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ในสภา

คำถามใหญ่ๆ ที่ผุดขึ้น คือ ตกลงกระบวนการทางการเมืองตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีเป้าหมายสูงสุดเพื่ออะไรกันแน่?

เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เสรีและเป็นธรรมยิ่งขึ้น เพื่อผู้นำประเทศ-รัฐบาลใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม

หรือเพื่อแก้ปัญหาเก่าแก่ค้างคาของบุคคลหรือคณะบุคคล คนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นการเฉพาะ

นี่ย่อมเป็นความย้อนแย้ง แปลกแยก ไม่ตรงไปตรงมา ประการที่สาม

ขณะที่ความย้อนแย้ง แปลกแยก ไม่ตรงไปตรงมา ประการท้ายสุด ก็มีอยู่ว่า ท่ามกลางความผิดฝาผิดตัว หน้าไหว้หลังหลอกทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวไป กลับไม่มีประชาชน (ไม่ว่าฝ่ายไหน) อยู่ในสมการอันซับซ้อนชุลมุนวุ่นวายข้างต้นเลย

ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นองค์ประกอบใหญ่สุดและสำคัญสุดของการเลือกตั้ง

และเป็นผู้ถือครองอำนาจสูงสุด (ในทางทฤษฎี) ของประเทศนี้

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image