สถานีคิดเลขที่ 12 : 50 ปี 14 ตุลาฯ

สถานีคิดเลขที่ 12 : 50 ปี 14 ตุลาฯ

เข้าสู่เดือนตุลาคม ซึ่งในเชิงประวัติศาสตร์การเมือง มีเรื่องราวให้รำลึกและศึกษาอย่างน้อย 2 เรื่อง

คือกรณี 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งครบ 50 ปี พอดีของเหตุการณ์ปี 2516

14 ตุลาฯ เป็นการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยนิสิตนักศึกษา นักเรียน และประชาชนครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

Advertisement

ภาพจำจากเหตุการณ์นี้ คือภาพของประชาชนเรือนแสนที่ออกมารวมตัวที่ถนนราชดำเนิน มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งเด่น

เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้ปิดฉากอำนาจของคณะทหารที่ทำรัฐประหาร เข้ามาบริหารบ้านเมือง และเริ่มยุคประชาธิปไตย ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จัดเลือกตั้ง

บรรยากาศประชาธิปไตยเบ่งบาน มีพรรคการเมืองลงสมัครแข่งขันมากมาย รวมถึงพรรคแนวสังคมนิยม ที่เคยต้องห้ามในยุครัฐประหาร

Advertisement

มีการชุมนุมประท้วง ของบรรดาผู้เสียเปรียบในสังคม ทั้งกรรมกร ชาวนา และกลุ่มอาชีพต่างๆ การใช้เสรีภาพในการพูด เขียน แสดงความคิดเห็น เป็นไปอย่างกว้างขวาง

บรรดาเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตื่นตัวทางการเมือง และแสดงบทบาทช่วยเหลือผู้เสียเปรียบ และศึกษาแนวคิดประชาธิปไตย และแนวคิดที่เคยต้องห้าม

14 ตุลาฯได้ปิดโอกาสของคนที่เคยได้เปรียบในสังคม ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่ได้รับผลกระทบ

ความเบ่งบานเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อคนที่เสียโอกาส เสียอำนาจ เกิดความพยายามโต้กลับ เป็นกฎของสังคมที่มักเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ

มีการใช้ข้อหาคอมมิวนิสต์มากล่าวหาผู้มีความคิดประชาธิปไตย ประเด็นเรื่องซ้ายๆ ขวาๆ ร้อนแรงขึ้นมาในบ้านเมือง

สถานีวิทยุของทางราชการกลายเป็นกระบอกเสียงในการกล่าวหาคนรุ่นใหม่ในเวลานั้น

ผู้นำนักศึกษาในเวลานั้น ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รับแผนต่างชาติมาทำลายประเทศไทย

สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นมิตรประเทศใกล้ชิดของไทยในเวลานี้ แต่ถ้าย้อนไปในช่วงเวลานั้น สถานะของจีนในความเห็นของกลุ่มอำนาจไทย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้กลุ่มอำนาจบางกลุ่มรังเกียจชิงชัง แต่ย้อนกลับไปในเวลาเดียวกันนั้น สายตาและความเห็นเป็นตรงกันข้าม

สั่งสมบ่มเพาะข้อกล่าวหาต่างๆ ในเวลา 3 ปี จาก 2516-2519 สุดท้ายเกิดรัฐประหารในตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาฯ 2519

โดยตลอดวันก่อนหน้านั้น มีการล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อปราบปรามนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านการกลับมาของอดีตผู้นำก่อน 14 ตุลาฯ

การปราบครั้งนั้น จุดชนวนปัญหาใหม่ คือ ผู้คนหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กลายเป็นสงครามระหว่างคนในชาติเดียวกัน กว่าจะยุติได้ ก็ต้องผ่านความสูญเสียอีกมากมาย งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ปีนี้ ระหว่าง 12-23 ตุลาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ผู้จัดงานคือสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ขอเชิญชมเรื่องราว “50 ปี 14 ตุลา เจ้าฝันถึงโลกสีใด”

คอเพลงคงจำได้ว่า คำว่า “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” มาจากเพลง “นกสีเหลือง” ผลงานของ วินัย อุกฤษณ์ นักคิดนักเขียนชื่อดังคนหนึ่ง

ผ่านไป 50 ปี คำถามจากบทเพลงนี้ ยังทันสมัยและท้าทายให้ตอบ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image