ไปให้พ้นจาก คนเดือนตุลา

สถานีคิดเลขที่ 12 : ไปให้พ้นจาก คนเดือนตุลา

ในวาระ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มติชนทีวีและ “ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข” ร่วมกันจัดทำซีรีส์สัมภาษณ์พิเศษ “คนเดือนตุลา” ทั้งที่เป็นนักวิชาการ, นักเคลื่อนไหว และนักการเมือง จำนวน 6 ราย

หนึ่งใน “คนเดือนตุลา” ที่ใบตองแห้งไปสนทนาด้วย ก็คือ “ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ” แห่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

คำถาม-คำตอบที่น่าสนใจระหว่างใบตองแห้งกับเกษียร ก็ได้แก่ประเด็นการพูดคุยว่าด้วยเรื่อง “คนเดือนตุลา” ดังที่เกษียรบรรยายถึงความซับซ้อนของปัญหาดังกล่าวว่า

Advertisement

“คนเดือนตุลาในฐานะเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง มันเป็นทรัพย์สินทางการเมืองและทรัพย์สินทางโฆษณาชวนเชื่ออุดมการณ์ นึกออกไหมครับ? มีคำว่าคนเดือนตุลาตราตรงหน้าผาก…

“ดังนั้น คนเหล่านี้ก็ได้ใช้ประโยชน์จากยี่ห้อเหล่านั้น หรือใช้ประโยชน์จากความจัดเจนและประสบการณ์ที่เขาได้ในช่วงเวลานั้น

“แต่เขาใช้อย่างอื่นด้วย เขาใช้ประสบการณ์ที่เขาเคยไปนั่งอยู่ในครม. ในรัฐบาลด้วย เขาใช้ประสบการณ์ที่เขาเคยไปนั่งอยู่ในสภาด้วยเขาใช้ประสบการณ์ที่เขาเคยไปนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ด้วย”

Advertisement

เมื่อพูดถึงจุดนี้ ใบตองแห้งจึงยกตัวอย่างของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ขึ้นมาว่า “ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่สุด พี่อ้วน คือคนตุลา เข้าป่า ทำเอ็นจีโอ ไปก่อตั้ง มอส. (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) แล้วไปทำงานการเมืองกับคุณทักษิณ เป็นรัฐมนตรี เป็นมันสมอง นั่นคือชีวิตแกยาวแบบหลากหลายมาก”

“รู้จักคนเดือนตุลาที่มีประสบการณ์ทุกอย่างตรงข้ามกับพี่อ้วนไหม? มีไหม? ดังนั้น มันไม่มีก้อนเดียว ที่จะมานิยามได้” นี่คือคำถามที่เกษียรถามกลับ ก่อนอธิบายต่อว่า

“คือแทนที่จะ (บอกว่า) พี่อ้วนคือคนเดือนตุลาที่ไม่ได้เป็นคนเดือนตุลาแล้ว ด่าพี่อ้วนแบบอื่นว่ะ มีให้ด่าตั้งเยอะ คุณก็ไปขุดหาเอา (คนเดือนตุลา) มันเป็นแค่ยี่ห้อหนึ่ง เอกลักษณ์แบบหนึ่ง แล้วมันก็ไม่ได้นิยามคนทั้งหมดที่มีประสบการณ์อันนั้น

“มันมีคนที่ประสบการณ์ตรงข้ามกับพี่อ้วนทุกอย่าง แล้วเขาก็มีสิทธิจะเรียกตัวเขาเองว่าคนเดือนตุลา”

ใบตองแห้งเติมประเด็นว่า “ที่คนพูดเรื่องพี่อ้วนเยอะ เพราะแกพูดเรื่องอุดมคติ ฝันให้ถึงไปดวงดาว แต่ไปไม่ได้หรอก ไปได้แค่ยอดมะพร้าว อันนี้คือความคิดแบบคนที่ผ่านการต่อสู้แล้วพ่ายแพ้มาเยอะ แล้วคิดว่ามันควรจะได้แค่นี้แหละ”

ขณะที่เกษียรแสดงทรรศนะว่า “ก็เถียงกับแกได้ เราสามารถเถียงได้ ว่าเราเข้าใจอุดมคติไม่เหมือนแก และวิธีคิดเข้าใจอุดมคติแบบที่แกคิด หรือแบบที่หมอพรหมินทร์ (เลิศสุริย์เดช) คิด ไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะคิดเข้าใจมันได้

“คำว่าคนเดือนตุลาเข้ามายุ่งตรงไหน? เราโกรธแกมากขึ้น เพราะแกเคยเป็นคนเดือนตุลา แต่นึกออกไหม คือการที่จะทะเลาะกับแกหรือเถียงกับแกเรื่องนี้ อาจจะไม่จำเป็นต้องลำเลิกเรื่องคนเดือนตุลาเลยก็ได้ แล้วผมคิดว่าเราควรจะก้าวเดินให้พ้นไปจากจุดนั้น

“เพราะถ้าเราไม่ก้าวเดินให้พ้นไปจากจุดนั้น เราจะเถียงกับแกได้แค่ไหน? คนเดือนตุลา เสียอุดมคติ พังหมดแล้ว จบ เถียงได้แค่นั้นเหรอ?

“คุณเห็นแต่การที่เขาเคยมีอุดมคติ แล้วเขาเสียไป แล้วคุณด่าเขาในฐานะคนเดือนตุลา ทำไมคุณไม่เถียงเขาให้เลยไปจากนั้น? คำว่าอุดมคติมันสามารถจะเข้าใจแบบอื่นได้ตั้งหลายแบบ ว่าทำไมอุดมคติมันจึงควรจะมี? แม้ในยามที่มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าไหร่”

จากบทสนทนาเข้มข้นข้างต้น ดูเหมือน “การไปให้พ้นจากคนเดือนตุลา” จะเป็นภารกิจหลักข้อหนึ่ง ในวาระ “50 ปี 14 ตุลา”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image