Quick Win การศึกษา

คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และรัฐบาล เร่งผลักดันผลงานเป็นการใหญ่ เข็น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ออกมาใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 กำลังเดินหน้าต่อ ส่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ พ.ร.บ.จัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย จะตามมาอีกไม่นาน

เฉพาะ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาชุดแรก และโอนสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ไปเป็นสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้จะสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลด้านการศึกษา บอกว่า แนวทางการดําเนินงานของกองทุน กสศ.จะไม่ซ้ำซ้อน แต่เป็นการสมทบเงินเดิม เพิ่มเติมสิทธิใหม่ให้เกิดความเสมอภาค เน้นช่วยเหลือกลุ่มคนที่ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.3 ล้านคน ได้แก่ กลุ่มเด็กแรกเกิด-3 ปี จำนวน 770,000 คน, กลุ่มเด็กอนุบาล จำนวน 610,000 คน, กลุ่มนักเรียนประถม-มัธยมต้น จำนวน 1,800,000 คน, กลุ่มนักเรียน ม.ปลาย/ปวช. จำนวน 360,000 คน, กลุ่มเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษา จำนวน 670,000 คน, กลุ่มวัย 18 ปีขึ้นไป จำนวน 150,000 คน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีโอกาสสำเร็จการศึกษาและพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกต่อว่า พร้อมทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยจะโอนงบประมาณและเงินกองทุนที่เกี่ยวข้องในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

Advertisement

ครับ ติดตามแล้วน่าดีใจ ทำเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งก็ต้องทำ ควรทำ แต่เรื่องที่ใหญ่ไม่แพ้กันควรเร่งเครื่องเดินหน้าให้คึกคักเข้มข้นในระดับเดียวกันหรือไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน (Quick Win) ทางการศึกษาที่พูดกันมานาน มีเวลาและทรัพยากรที่ทุ่มเทลงไปแต่ละปีมากมายเป็นตัวประกัน

สำคัญที่สุด เป็นจุดคานงัด ชี้เป็นชี้ตายคุณภาพของนักเรียน คุณภาพการศึกษา แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ สิ่งที่ปรากฏออกมายังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

นั่นคือ ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ปฏิรูปการสอนของครู กับปฏิรูปการสนับสนุนการศึกษา ดังตัวอย่าง เงินค่าหนังสือเรียนเด็ก เป็นต้น

Advertisement

เรื่องแรก ปฏิรูปการสอนของครูให้ก้าวพ้นจากความเคยชินเดิม ที่เน้นท่องจำตามตำรา สอนหนังสือ ทฤษฎี ยิ่งกว่าสอนให้คิดและลงมือทำจริงด้วยกิจกรรมเพื่อเรียนรู้และสรุปประสบการณ์ด้วยตนเองทั้งในและนอกห้องเรียน ครูเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ตั้งคำถามกระตุ้นให้อยากเรียนรู้ อยากตอบและเป็นแบบอย่างทางความประพฤติ

บทเรียนจากแนวทางพัฒนาครูด้วยรูปแบบ คูปองครูหัวละ 10,000 บาท ที่ผ่านมาเป็นปีที่ 2 ถูกมองว่าเป็นการพัฒนาครูลู่เดียว ยังไม่เปิดทางเลือกอื่นๆ ให้ครูและโรงเรียนเพียงพอ

หลักฐานยืนยันปรากฏในรายงานวิจัยเรื่องการพัฒนากลไกขับเคลื่อนระบบการผลิตและพัฒนาครูสมรรถนะสูงสำหรับประเทศไทย 4.0 สภาการศึกษามอบให้ ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ และคณะ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี ดร.เพ็ญวรา ชูประวัติ รองหัวหน้าโครงการเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา

ข้อคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาครู น่าคิด สะท้อนทรรศนะที่มีต่อกระบวนการพัฒนาครูที่ดำเนินมา และความคาดหวังที่อยากเห็น ตามลำดับ

สูงที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1.เปิดโอกาสให้สถานศึกษาและครูสามารถใช้งบประมาณสนับสนุนการพัฒนาครูรายบุคคล (จำนวน 10,000 บาทต่อปี) ไปใช้ในการพัฒนาครูแบบการพัฒนาในเวลาปฏิบัติงาน (On the job Training) และการพัฒนาแบบการศึกษาด้วยตนเอง ได้อีกช่องทางหนึ่ง 2.รองลงมาคือ เปิดโอกาสให้เครือข่ายเชิงพื้นที่ที่มีสถาบันผลิตครูและสถานศึกษา และ/หรือต้นสังกัดในกลุ่มจังหวัด หรือจังหวัด ร่วมพัฒนาครู โดยใช้งบประมาณสนับสนุนการพัฒนาครูรายบุคคล (เช่นจำนวน 10,000 บาทต่อปี) ได้อีกช่องทางหนึ่ง และ 3.จัดสรรงบประมาณสนันสนุนเป็นรายบุคคล (เช่นจำนวน 10,000 บาทต่อปี) เพื่อให้ครูนำไปใช้เข้ารับการพัฒนาในหลักสูตรที่คุรุสภารับรองเพียงช่องทางเดียว

ความคาดหวังสองข้อแรกยังไม่บรรลุ เพราะติดขัดกฎ ระเบียบ กติกาที่กำหนดไว้ตายตัว ไม่สามารถนำเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปใช้พัฒนาด้วยแนวทางเลือกอื่น พัฒนาครูจึงยังเป็นไปเพื่อครูเป็นหลักมากกว่านักเรียน

เรื่องที่ 2 ปัญหาหนังสือเรียนเด็ก ผลจากการทดลองนโยบายใหม่ เปลี่ยนจากแจกฟรีเป็นให้ยืม เมื่อจบชั้นแล้วส่งต่อกับนักเรียนรุ่นใหม่ ทำให้ถูกตัดงบประมาณไปหลายพันล้าน พอกลับลำใหม่ขอ
งบกลางมาทดแทน ได้มาไม่เต็มจำนวน กระบวนการจัดสรรล่าช้า ไม่ทันการณ์เปิดเทอม 2 เดือนแล้ว โรงเรียนบางแห่งได้รับการจัดสรรหนังสือแค่ 50% ที่เหลือยังไม่แน่นอนว่าจะได้รับเมื่อไหร่ ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของนักเรียน ยิ่งใกล้เวลาสอบปลายภาคต้นยังไม่มีหนังสือ ท้ายที่สุดผู้ปกครองต้องแบกภาระรับค่าใช้จ่าย

ถามว่าทั้ง 2 เรื่องนี้ใหญ่หรือเล็ก เร่งด่วนไม่น้อยไปกว่าการตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคและแยกกระทรวงอุดมศึกษา เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องรีบแก้ไขหรือไม่ และใครควรเป็นเจ้าภาพ ระหว่างกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยตอบที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image