‘ผู้ป่วยเรื้อรัง’

ครึ่งเดือนที่ผ่านมาข่าวสารของประเทศเราเกาะติดรายงานเหตุการณ์ช่วย 13 ชีวิตหมูป่าติดถ้ำ ถือเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายจากแรงกดดันการเมืองและเศรษฐกิจ ที่รุมเร้าถาโถมเข้าใส่แบบตั้งตัวไม่ติด หลังจากนี้ชีวิตกลับคืนสู่โหมดความจริง ปัญหาการเมืองที่เผ็ดร้อน ปมเศรษฐกิจที่เป็นจุดเปราะบาง

เปรียบเสมือนนักมวยที่ถูกคู่ต่อสู้ต่อยหน้าหรือลำตัวต้องออกอาการทุกทีไป

โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่วลี “รวยกระจุก จนกระจาย” คอยทิ่มแทงรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะพยายามใช้ตัวเลขชี้ ภาพรวมของประเทศดีขึ้น โดยเน้นย้ำตัวเลขจีดีพีของประเทศที่โตขึ้น

หาก “บิ๊กตู่” ยังติดกับดักตัวเลข มองจีดีพีเพื่อโชว์ความสำเร็จในการแก้ปัญหา ต้องลองไปอ่านปาฐกถาฉบับเต็มของ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในวาระ 45 ปี 14 ตุลาคม หัวข้อ “ประชาธิปไตยกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” อาจเข้าถึงแก่นการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

Advertisement

ผมขอยกบางช่วงบางตอนมาฉายภาพซ้ำ โดยอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติจับอาการของประเทศไทยเหมือน “ผู้ป่วยเรื้อรัง” ที่รัฐบาลพยายามจ่ายยาหลายขนาน แต่อาการกลับไม่ตอบสนอง เหมือน “ระเบิดเวลา” พร้อมจะเหนี่ยวรั้งการพัฒนาเศรษฐกิจได้ทุกเมื่อ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตัวเลขและผลการศึกษาหลายหน่วยงานชี้ว่าประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับต้นๆ ของโลก

คนไทย 10% หรือประมาณ 7 ล้านคน มีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน

Advertisement

คนไทย 10% ที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุด มีรายได้ห่างกันถึง 22 เท่า

คนไทยมากกว่า 75% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ขณะที่โฉนดกว่า 61% อยู่ในมือคนแค่เพียง 10%

เด็กไทยกว่า 6 แสนคน ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะผู้ปกครองไม่มีเวลาหรือเงินไม่พอส่งลูกเรียน ทั้งที่เด็กมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าใคร ตัวอย่างนี้สะท้อน “ทุนชีวิต” ที่คนไทยมีไม่เท่ากัน

“ประสาร” มองว่า ปัญหามาจากทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นปริมาณอย่างหยาบๆ ที่เน้นแค่จีดีพีโตปีละมากๆ โดยไม่ดูคุณภาพ อีกด้านหนึ่ง “การค้าเสรี” ที่ไร้กติกา ที่แต่ละคนมี “ทุน” และ “โอกาส” ไม่เท่ากัน ทำให้การพัฒนาออกมาในลักษณะ “เศรษฐกิจยิ่งโต ผู้มีทุนมากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบ” คล้ายกับ “ถนนการค้า” ที่ขาดกฎจราจร สุดท้ายพื้นผิวถนนถูกยึดครองโดยรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่คอยเบียดรถขนาดเล็กหรือมอเตอร์ไซค์ให้ต้องวิ่งตามไหล่ทาง โดยพาหนะเหล่านี้พร้อมจะตก “ขอบ” ถนนได้ตลอดเวลา

ปัญหาหนึ่ง คือ กลไกและบทบาทภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยน เพราะภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ และกติกา ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างแรงจูงใจและระบบนิเวศที่เอื้อให้ระบบเศรษฐกิจพัฒนา

ดังนั้น ต้องกำหนดทิศทางสำคัญใน 4 มิติ คือ 1.การกระจาย
อำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจมากขึ้น อำนาจการตัดสินใจยังรวมศูนย์ที่ส่วนกลางทำให้การแก้ปัญหามักมีสูตรเดียว ยากที่จะตอบโจทย์ท้องถิ่นที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันได้อย่างตรงจุด 2.ภาครัฐจำเป็นต้องคำนึงถึง “ประสิทธิภาพ” และ “ความยั่งยืน” มากขึ้น โดยเรื่องที่สำคัญคือ การปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้ทันสมัย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ

3.ความโปร่งใส ภาครัฐจำเป็นต้องโปร่งใสและมีการตรวจสอบจากภาคประชาชนได้ จะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่นที่เป็น “ต้นทุนแฝง” ของภาคเอกชนได้ และ 4.การสร้างความร่วมมือ ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาหรือโจทย์ของประเทศหลายเรื่องยากขึ้น ภาครัฐต้องสร้างความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นในทุกมิติ ทั้งในระหว่างส่วนราชการ ภาคเอกชน และระหว่างประเทศ

พร้อมยกตัวอย่างที่ทันเหตุการณ์คือการช่วยชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในภารกิจกู้ภัยในถ้ำที่ยากที่สุดในโลก แต่ด้วยการผนึกกำลังของผู้เชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์และทักษะ ทั้งในและต่างประเทศ ก็ทำให้ภารกิจนี้สำเร็จได้อย่างเหลือเชื่อ และปฏิบัติการครั้งนี้ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของโลก

นับเป็นปาฐกถาที่น่ารับฟังอีกชิ้นหนึ่งในปีนี้…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image