เดินหน้าชน : ไม่ทิ้งสนามรบ

ปูทางกันมาตลอดสำหรับกระบวนการที่ต้องการให้ คสช.สืบทอดอำนาจ หรือให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้ง

ไล่เรียงกันมาตั้งแต่การเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก

การกำหนดให้ ส.ว. 250 คน มาจากคัดสรรของ คสช. 244 คน และโดยตำแหน่งอีก 6 คน ที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ พร้อมให้อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

มีการเขียนกติกาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่

Advertisement

ยังมีการตั้งพรรคการเมือง และมีกลุ่มการเมืองสนับสนุน

ยังมีอดีต ส.ส. ที่ออกมาแฉพลังดูด โดยใช้วิธีข่มขู่แกมบังคับ พร้อมเสนอเงื่อนไขต่างๆ ให้มาร่วมส่งเสียงเชียร์

รวมทั้งดึงนักการเมืองมาเป็นพวก โดยตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม น้องชายนายสนธยา เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

Advertisement

แต่กระบวนการจัดตั้งเหล่านี้ น่าจะยังไม่สร้างความมั่นใจให้ “บิ๊กตู่” เพียงพอ เพราะยังมีเป็นก้างชิ้นใหญ่ขวางคออยู่

โดยพรรคเพื่อไทย ที่เป็นหมู่บ้านกระสุนตกหลังการรัฐประหาร ยังเป็นคู่ต่อสู้ที่สำคัญ และฐานเสียงยังแน่น

การที่ “บิ๊กตู่” นำ ครม.สัญจรไปในจังหวัดต่างๆ พร้อมอนุมัติงบประมาณเห็นชอบโครงการต่างๆ นั้น ถูกนักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไปหาเสียง หรือสร้างคะแนนนิยมเพิ่ม

ถึงจะมีเสียงเชียร์ “พวกเรารักลุงตู่ ลุงตู่สู้ๆ” หรือเสียงเพลง “พัฒนาไม่หยุดคือ พล.อ.ประยุทธ์” ที่เกิดขึ้นในคราว ครม.สัญจรอุบลราชธานี อาจทำให้เคลิบเคลิ้มได้ แต่ “บิ๊กตู่” ก็ยังไม่ประกาศตัวว่า จะเล่นการเมืองหรือไม่ โดยให้รอฟังความชัดเจนในช่วงเดือนกันยายนนี้

ซึ่งเดือนกันยายนนี้ “บิ๊กตู่” จะนั่งหัวโต๊ะคุยกับนักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนจะปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรม
ที่ “บิ๊กตู่” ยังไม่ยอมเปิดหน้า ส่วนหนึ่งอาจจะกลัวข้อครหาเรื่อง เขียนกติกาเอง เล่นเอง และตัดสินเอง

อีกปัจจัยหนึ่ง ก็มองได้ว่า “บิ๊กตู่” ยังไม่มั่นใจเต็มร้อยนั่นเอง

เวลาจากนี้ถึงเดือนกันยายน ยังมีเวลาที่กลุ่มสนับสนุนจะเดินเกมการเมือง เพื่อเปิดทางให้ “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง
เมื่อถึงเวลานั้น “บิ๊กตู่” คงจะตัดสินใจได้

แต่ถ้าประเมินแล้วว่า จะแพ้พรรคเพื่อไทย และจะทำให้ “บิ๊กตู่” เสียหน้า ก็อาจจะเป็นเหตุให้ “บิ๊กตู่” ตัดสินใจวางมือ ซึ่งจะทำให้คนที่สนับสนุนหรือแอบเชียร์กุมขมับและหงายหลังไปตามๆ กัน

แต่ช่องทางนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะชายชาติทหารอย่าง “บิ๊กตู่” คงไม่กล้าทิ้งเพื่อนในสนามรบ โดดหนีเอาตัวรอดคนเดียว
ที่เป็นไปได้สูงคือ สู้ให้ถึงเฮือกสุดท้าย

โดยการเลือกตั้งสมัยหน้า ภายใต้กฎกติกาใหม่ จะไม่มีพรรคไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดเพียงพรรคเดียว พรรคที่ “บิ๊กตู่” สังกัด หรือพรรคที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ก็ไม่มีโอกาสเช่นกัน

แต่พรรคที่ “บิ๊กตู่” สังกัด หรือพรรคที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” มีโอกาสที่จะจับขั้วพรรคเล็กพรรคน้อยสนับสนุนให้ “บิ๊กตู่” ก้าวขึ้นเป็นนายกฯได้

แม้จะเป็นการทำลายประเพณีปฏิบัติที่ยึดถือกันมานานคือ ต้องให้โอกาสพรรคชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่เป็นไร

ถึงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไม่สง่างาม” แต่เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็สำเร็จคือ เก้าอี้นายกฯ

อยู่ที่ว่า เมื่อถึงเวลา “บิ๊กตู่” จะเอาหูทวนลม หรือทนเสียงครหาได้แค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image