‘จริยธรรม-ผลกำไร’ : โดย โกนจา

ผมมองว่าอาชีพแพทย์ พยาบาล หรือแม้แต่ผู้ประกอบการโรงพยาบาลไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน เป็นอาชีพที่คาบเกี่ยวระหว่างจรรยาบรรณ จริยธรรม และการแสวงหาผลกำไร อยู่ที่การให้น้ำหนักว่าจะสมดุล หรือโน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาเกิดข้อเรียกร้องเกิดขึ้นมากมายในแง่นี้

ได้รับข้อมูลจากเพื่อนๆ มาเล่าอาการเจ็บป่วยเพราะเกิดอาการปวดศีรษะต้องไปรักษาตัวกับ รพ.เอกชนที่ผูกประกันสังคมไว้ ไม่รู้ว่าหมอวินิจฉัยโรคตามฐานะสังคมหรือไม่ เหมือนที่รู้กันว่าได้แค่ยาแก้ปวด ยาพาราฯมากินประทังอาการ ถ้าปล่อยไว้ก็เสี่ยงต้องจำยอมเสียเงินไปตรวจกับ รพ.อีกแห่งหนึ่งเพื่อเข้ารับการสแกนสมอง ในที่สุดรู้เหตุแห่งโรคว่าป่วยหนักเป็นเนื้องอกในสมอง ต้องเข้ารับการผ่าตัด หากยังดันทุรังทนรักษา รพ.เก่าตามสถานะบัตรประกันสังคม ก็ไม่รู้ว่าชีวิตอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ นี่ก็คือคำถามด้านจรรยาบรรณและจริยธรรมข้อหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง ปรากฏเป็นข่าวตามสื่ออยู่บ่อยๆ เรื่องที่ รพ.เอกชนปฏิเสธผู้ป่วยอนาถา หรือคนไข้ฉุกเฉิน ซึ่ง นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. และอดีตรองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เคยให้สัมภาษณ์ว่า รพ.พวกนี้จะใช้วิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเงินมัดจำ การดูแลอย่างเร็วๆ แล้วบอกสารพัดข้อจำกัดเพื่อกีดกันคนเหล่านี้ให้ไปรักษาตัวต่อที่อื่น หรือแม้กระทั่งไม่รับไว้เลยตั้งแต่เริ่มต้น ใช้วิธีไม่รับคนไข้มาอยู่ในระบบเลย โดยใช้ยามที่ไม่ใช่บุคลากรแพทย์บอกว่าไม่ต้องลงจากรถ เพื่อไม่บันทึกลงในระบบของ รพ. บ่อยครั้งที่เจออย่างนี้

หากรัฐบาลปล่อยไปอย่างนี้จะเกิดความเสียหายเชิงภาพลักษณ์ และความเหลื่อมล้ำ

Advertisement

จนมีการออกนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุก รพ.ที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องสอบถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายเงินก่อน ถือเป็นความพยายามลดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่าง “ผู้ป่วยมีสตางค์” กับ “ผู้ป่วยอนาถา” และล่าสุดรัฐบาลชุดนี้ก็แก้ไข พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดบทลงโทษ ทั้งจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณี รพ.เรียกเก็บเงินจากคนไข้ หรือปฏิเสธคนไข้ กำหนดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไม่ต้องสำรองเงินค่ารักษาพยาบาลในระยะ 72 ชม.แรก

ขณะที่มีเสียงบ่นออกมาจาก รพ.เอกชนว่า “ขาดทุน” เดี๋ยวนี้ใครมีเคสฉุกเฉินยิ่งเยอะ ยิ่งเจ๊ง ยิ่งขาดทุน รพ.เอกชนที่ค่าใช้จ่ายสูงกว่า รพ.รัฐ มันจะทำให้ทุก รพ.อยู่ไม่ได้หมด

ทำให้ผมต้องไปหาข้อมูลผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจ รพ.จดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ได้ข้อมูลในช่วงปี 2558-2559 ที่ย้อนแย้งกับคำกล่าวอ้าง พบว่า บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ มีกำไรสุทธิ 7,917 ล้านบาท และ 8,386 ล้านบาท บมจ.รพ.บำรุงราษฎร์ มีกำไรสุทธิ 3,435 ล้านบาท และ 3,626 ล้านบาท บมจ.รพ.จุฬารัตน์ มีกำไรสุทธิ 538 ล้านบาท และ 564 ล้านบาท เป็นต้น

Advertisement

ผลกำไรมากมายขนาดนี้ทำให้ธุรกิจนี้ กลุ่มทุนใหญ่จ้องตาเป็นมัน กำลังแตกไลน์สู่กิจการที่สร้างเงินสม่ำเสมอ ความเสี่ยงต่ำแต่รายได้โตตลอด

ประเด็นเหล่านี้ จึงมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนและแพทย์ชนบท ให้รัฐบาลออกมาตรการควบคุม ค่ายา ค่ารักษาผู้ป่วย ของ รพ.เอกชน ที่คิดแพงเกินไปจนเข้าข่ายค้ากำไรเกินควร ถึงเวลาที่ต้องเข้ามาดูแลลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง เพราะค่ายาและค่ารักษาของ รพ.เอกชนทุกวันนี้ถือว่าโหดมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

ล่าสุด นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จับของร้อน มีมติให้นำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุม

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ค่าใช้จ่าย รพ.รัฐและเอกชนมีความแตกต่างกันมาก เช่น ค่ายาแพงกว่า 20-400 เท่า ค่าผ่าตัดไส้ติ่งเอกชนแพงกว่ารัฐ 14 เท่า แต่ของสิงคโปร์ค่าใช้จ่ายของ รพ.รัฐและเอกชนห่างกันแค่ 2.5 เท่า

อย่าแปลกใจ ที่ CS Global Wealth Report 2018 เปิดข้อมูลว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว

เรื่องนี้ท้าทายรัฐบาลชุดนี้ ที่ป่าวประกาศว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หลังจากปล่อยปละละเลยมานาน ใครใคร่โกงโกง ใครใคร่ผูกขาดก็ผูกขาด ใครใคร่ค้ากำไรเกินควร เราต้องกลับมาใช้หลัก “ยุติธรรม” มากกว่าระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือปลาใหญ่กินปลาเล็ก เอาเปรียบกันเป็นทอดๆ สร้างความเหลื่อมล้ำไม่รู้จักจบสิ้น…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image