เดินหน้าชน : รัฐบาลอยู่ยาก : โดย สัญญา รัตนสร้อย

เบ็ดเสร็จเรียบร้อยในภารกิจแรกของบรรดา ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 498 คน (รอผลเลือกตั้งใหม่ 1 คน + รอคำนวณบัญชีรายชื่อใหม่อีก 1 คน) กับการรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

แต่จะเป็น ส.ส.โดยสมบูรณ์ก็ต้องกล่าวปฏิญาณตนในวันเปิดประชุมสภานัดแรก ตามคิวจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้

จากนั้นไม่เกิน 25 พฤษภาคม จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งลงมา ประธานสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

Advertisement

ทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น กลับมาที่บรรยากาศการเดินสายรวบรวมเสียงของ 2 ขั้วการเมือง

แม้คึกคัก แต่ต้องบอกว่ายังหาจุดลงตัวไม่ได้

Advertisement

ในขั้วที่อ้างตัวเป็นฝ่ายสกัดการสืบทอดอำนาจ มีพรรคเพื่อไทย (พท.) และพันธมิตรอีก 6 พรรค ยังตรึงอยู่ระดับ 245 เสียง

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระ เพิ่งรวบรวมเสียงจากพรรคเล็ก+พรรคจิ๋ว เบ็ดเสร็จ 137 เสียง

ต้องรอวัดใจจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 52 เสียง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 51 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคชาติพัฒนา (ชพ.) 3 เสียง รวม 116 เสียง ที่ยังรักษาท่าทีไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

แต่ในตลาดต่อรองเชื่อกันว่า มีแนวโน้มสูงจะเทไปให้ฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

ขั้วพลังประชารัฐอาจมีเพียง 137 เสียง แต่หากเอาคณิตการเมืองเป็นตัวตั้งบวกกับรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้นายกฯต้องมีเสียงสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของ 500 (ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร) + 250 (ส.ว.สมาชิกวุฒิสภา) หรือต้องมีกองหนุนเกิน 375 เสียงขึ้นไป

ณ เวลานี้เลขล็อก พปชร. 137 ส.ส. + 250 ส.ว.อันมีที่มาจากสูตรสกัดเข้มข้น “ชงเอง ซดเอง”

เอาแค่ตัวเลขทางบัญชี การขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯอีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ดูเหมือนไร้ปัญหา

ปัญหาอยู่ที่ว่า จะสร้างรัฐบาลให้มีเสถียรภาพเกิดขึ้นได้อย่างไร

ต่อให้รวม ปชป.+ภท.+ชทพ.+ชพ. รัฐบาลประยุทธ์รอบใหม่ก็มีเพียง 253 เสียง หวาดเสียวอย่างยิ่งในการบริหารประเทศ

หรือต่อให้ประเมินกันว่า ภายหลังความชัดเจนในตัวนายกรัฐมนตรี จะมี ส.ส.ขั้วตรงข้ามแปรสภาพเป็น “งูเห่า” พาเหรดเข้ามาร่วมด้วย ก็เสมอเพียงการคาดหมาย ไม่สามารถมั่นใจระดับร้อยเปอร์เซ็นต์

ยิ่งกว่านั้นความเป็น ส.ส.โดยสมบูรณ์ หลังกล่าวปฏิญาณตนในวันเปิดประชุมสภานัดแรก หาใช่การการันตีความมั่นคงของการเป็น ส.ส.

เพราะต้องไม่ลืมว่า ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรายชื่อ ส.ส.ทั้ง 2 ระบบเมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม ยังมีคำร้องคัดค้านคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. รวมไปถึงการทุจริตเลือกตั้งอีกจำนวนหนึ่ง

มีความเป็นไปได้ว่า ส.ส.บางคนอาจถูก กกต.สอยจากเก้าอี้ใน 2 เงื่อนไข

ใบเหลือง-หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้งให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น และให้สมาชิกภาพของ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลง

ใบแดง-หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น

ล้วนส่งผลสะวิงไป-มาของจำนวน ส.ส.ทั้งสองขั้ว

และยิ่งส่งผลสำคัญต่อเสถียรภาพรัฐบาล

โดยเฉพาะรัฐบาล 20 พรรค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image