เดินหน้าชน : ห้ำหั่นกันในสภา : โดย พันธศักดิ์ รักพงษ์

ผมอ่านข้อความของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา ที่ได้โพสต์เปรียบเทียบการตั้งนายกรัฐมนตรีปี 2535 จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และการตั้งนายกฯปัจจุบันในปี 2562
ดร.อาทิตย์มองว่า เมื่อปี 2535 ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเสียงข้างมากในสภา เสียงข้างมากชัดเจนได้เสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากการเสนอหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากนั้นชัดเจน 195:165 ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช. ซึ่งประชาชนได้ออกมาคัดค้านประท้วงไม่เห็นด้วยและได้มีการปราบปรามปะทะกันจนประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ออกมาชุมนุมโดยสงบสันติและปราศจากอาวุธได้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า หากแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมากที่สภาเสนอ ประชาชนก็ย่อมต้องออกมาประท้วงอีก และรัฐบาลซึ่งมีทหารสนับสนุน ก็จะต้องปราบปรามกวาดล้างตามแนวทางของทหารอีกเช่นเดิม จะเกิดการนองเลือดและประชาชนล้มตายอีกเป็นจำนวนมาก

แม้ว่าประธานสภาซึ่งสังกัดพรรคเสียงข้างมากอยู่แล้ว และได้รับทั้งคำร้องขอ คำสั่ง คำขู่ และอามิสสินจ้างทั้งตำแหน่งและเงินทอง ให้เสนอชื่อตามที่พรรคเสียงข้างมากเสนอ แต่ไม่อาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคเสียงข้างมากเสนอได้ จำเป็นต้องหาคนกลางเพื่อเข้ามายุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินต่อไป

สำหรับสถานการณ์ในปี 2562 มีทั้งเหมือนและแตกต่างจากปี 2535 ส่วนที่เหมือนนั้น ในลักษณะที่มีการสืบทอดอำนาจของ คสช. มีอยู่ชัดเจน การเขียนรัฐธรรมนูญและกติกาการเลือกตั้งใหม่ก็แสดงชัดเจนว่าตั้งใจจะสืบทอดอำนาจตั้งแต่ต้น

Advertisement

ในส่วนที่แตกต่างจากปี 2535 ประการสำคัญ คือพรรคต่างๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันกระจัดกระจายและมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนน้อยมาก ไม่เป็นปึกแผ่นเอกภาพ แม้จะรวมตัวได้มากที่สุด ก็ยังเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยที่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงในการบริหารประเทศนำรัฐนาวาไปสู่ความเป็นปึกแผ่น มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้

จึงชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ปี 2562 นี้หนักหน่วงยิ่งกว่าปี 2535 มากนัก

ผมซึ่งเคยเห็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กลับมองว่าแม้กระบวนการในระบบรัฐสภามีความคล้ายคลึงกันคือการสืบทอดอำนาจของ รสช. และ คสช. แม้ครั้งนี้เสียงของสภาผู้แทนฯจะไม่เป็นเอกภาพและหมิ่นเหม่ที่จะได้รัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ มีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 250 เสียงจาก ส.ส.500 เสียงไปไม่มากนัก

Advertisement

แต่การสืบทอดอำนาจครั้งนี้มีความแยบยลผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. โดยเฉพาะการเขียนให้วุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. เข้ามามีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯ

ยิ่งมองพฤติกรรมของนักการเมืองส่วนหนึ่งแม้จะผ่านเหตุการณ์เมื่อปี 2535 มา แต่ ส.ส.พวกนี้ก็ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยังยึดเรื่องผลประโยชน์ไม่เว้นแม้แต่อามิสสินจ้างทั้งตำแหน่งและเงินทอง

ที่สำคัญบริบทของสังคม โดยเฉพาะความแตกแยกของความคิดทางการเมือง การแบ่งแยกสี แยกค่ายที่ชัดเจน ผ่านการบาดเจ็บล้มตายมาแล้วทุกฝ่าย ทำให้วันนี้สังคมไม่ตกผลึกทางความคิดเรื่องของการต่อต้านเผด็จการหรือระบอบทหาร ยิ่งรัฐธรรมนูญที่สร้างกลไกขององค์กรอิสระซึ่งสามารถบั่นทอน เตะตัดขาฝ่ายตรงข้ามจนกลายเป็นเป็ดง่อย

การสืบทอดอำนาจในปัจจุบัน แม้สุดท้าย “บิ๊กตู่” จะได้รับเลือกโดยอาศัยเสียงของ ส.ว. แต่สิ่งที่คาดหวังว่าจะเห็นมวลชนออกมาคัดค้าน เดินประท้วงตามท้องถนนคงเป็นไปได้ยาก เพราะสังคมขาดความเป็นเอกภาพ แบ่งแยกสี แยกฝ่าย และแต่ละฝ่ายก็มีมวลชนเป็นกองหนุนของตัวเอง พร้อมที่จะปลุกออกมาปะทะกันได้แทบทุกเมื่อ

ดังนั้น พรรคการเมืองที่อ้างว่ายืนอยู่ฟากประชาธิปไตย อย่าคาดหวังนำพลังของมวลชนออกมากดดัน แต่ควรใช้กลไกในระบอบรัฐสภาแม้จะพิกลพิการ แต่ก็ควรใช้ช่องโหว่ที่พรรคร่วมรัฐบาลขนาดกลาง 2 พรรคใช้วิธีขี่คอ บงการเกมให้พรรคใหญ่ต้องเดินตาม กลายเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ ไร้เอกภาพ เกาะเกี่ยวอยู่กันด้วยผลประโยชน์

วันนี้เราควรใช้ระบบรัฐสภา สร้างระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่ากลไกรัฐสภาก็สามารถสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ …

พันธศักดิ์ รักพงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image