เดินหน้าชน : วิถี‘Circular’ : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

รัฐบาลชุดใหม่เตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก่อนเริ่มงานขับเคลื่อนประเทศไทย
รอลุ้นดูว่านโยบายด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลได้แค่ไหน

นโยบายหนึ่งในด้านสังคม ที่สำคัญคือการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องขยะ ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีการหารือถึงความร่วมมือเพื่อลดขยะทะเล

การบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ ต้องมีปัจจัยต่างๆ ประกอบกัน ตั้งแต่การสร้างจิตสำนึก องค์ความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ

“เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ “Circular Economy” เป็นหนึ่งในองค์ความรู้ที่องค์กรธุรกิจหลายแห่งในประเทศต่างๆ นำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ

Advertisement

ในไทยมีบริษัทต่างๆ ดำเนินการกันมาระยะหนึ่งแล้ว อย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” ที่บริหารจัดการทรัพยากรตามหลัก 5Rs นั่นคือ Reduce ลดการใช้, Reuse การใช้ซ้ำ, Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่, Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ Refuse การปฏิเสธการใช้

นอกจากนี้ ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ไบโอ พลาสติก” ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และตั้งเป้ายกเลิกการผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายใน 5 ปี (2562-2566)

“จีซี” ยังร่วมกับ บริษัท แอลพลา กรุ๊ป จำกัด (ALPLA) ที่เชี่ยวชาญการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงระดับโลก เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้การร่วมลงทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงชนิด PET และ HDPE แห่งแรกของไทย จะสรุปผลและตัดสินใจการลงทุนในไตรมาส 3 ปีนี้

Advertisement

รวมทั้งร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดการขยะพลาสติกผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand โดยเก็บขยะในทะเลนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่น

ร่วมกับ บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (SPSE) จัดทำโครงการ “Upcycling SE” เพื่อบริหารจัดการขยะพลาสติกร่วมกับชุมชน โดยแปรรูปขยะขวดพลาสติก เป็นสินค้าและของใช้แฟชั่นจัดจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า “Upcycling by GC”

ผลจากการดำเนินการต่างๆ เห็นผลชัดเจน สะท้อนออกมาทั้งผลประกอบการที่ดี และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ไม่แค่นั้น “จีซี” ยังร่วมกับ “เนชั่นแนล จีโอกราฟิก” สื่อยักษ์ระดับโลก และพันธมิตร จัดงาน “Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet”

ภายในงานมีผู้นำความคิด และนวัตกรด้าน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้ผู้ร่วมงานรับฟัง อาทิ

“อาเธอร์ หวง” ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท Miniwiz จากไต้หวัน ผู้นำระดับโลกด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ได้รับการยกย่องโดย The World Economic Forum ให้เป็น 1 ใน 11 องค์กรชั้นนำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ไอรีน เดซ รูซ ผู้จัดการทั่วไปมูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากสเปน ผู้สร้างสรรค์เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ และผู้ดำเนินโครงการ “Upcycling The Oceans” ที่ริเริ่มการเก็บขยะในทะเล นำมาแปรรูปเป็นเส้นใยเพื่อผลิตสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ยังมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศอีกหลายคนร่วมแชร์แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ “จีซี” ย้ำว่า การจัดงานครั้งนี้ เพื่อจุดประกายความคิดการมีส่วนร่วมเพื่อปกป้องอนาคตของโลกร่วมกัน

รวมทั้งเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อขานรับการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลใหม่

นอกจากนี้ ยังจุดประกายความคิด โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัพ ที่จะนำพลาสติกไปต่อยอดแปรรูปเป็นวัตถุดิบและสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

ที่สำคัญ ยังกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไป นำแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” มาปรับใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน หรือ “Circular Living” เพื่อร่วมกันผลักดันไปสู่การปฏิวัติการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

เพราะทุกคนล้วนมีส่วนสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image