เดินหน้าชน : ปชป.แก้รธน. : โดย ทรงพร ศรีสุวรรณ

ยํ้ากันอีกครั้ง สำหรับ 3 เงื่อนไข ที่พรรคประชาธิปัตย์ยกเป็นเหตุผลในการเข้าร่วมรัฐบาล

1.การประกันรายได้เกษตรกร

2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

3.การบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

Advertisement

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ยืนยันว่านโยบายทั้ง 3 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาล

ทั้งยังยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในส่วนของ “นโยบายเร่งด่วน” ที่ต้องดำเนินการภายใน 1 ปี

ต่างกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายเร่งด่วนนั้้นไม่ได้ระบุกรอบเวลาไว้ว่าจะเป็น 6 เดือน หรือ 1 ปี

Advertisement

จึงต้องรอความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา วันที่ 25 กรกฎาคมนี้

ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่แน่นอนเกี่่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยมีรายงานข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาลออกมาในทำนองว่า ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าทางพรรคฝ่ายค้าน และอาจจะเป็นเหตุให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อาจจะหลุดคดีถือหุ้นสื่อ

ยังมีการประเมินกันว่า เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที

เพราะหนึ่งในประเด็นสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ ส.ว. 250 คน ที่มาจากแต่งตั้ง

ประเด็น 5 ปีแรก ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจร่วมกับ ส.ส.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะยอมให้มีการแก้ไข

หากมีการแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเหมือน ส.ส. หรือให้ ส.ว.มีที่มาจากกลุ่มองค์กรต่างๆ คัดสรรกันเอง แต่ไม่ให้มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะทำให้ยุทธศาสตร์ของ คสช.ที่วางไว้จบลง และอาจจะทำให้การเมืองเปลี่ยนขั้วได้

ดังนั้น ความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล หรือของพรรคพลังประชารัฐคือ อาจจะมีการเสนอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาว่ามาตราหรือประเด็นไหนที่มีปัญหา

ซึ่งหากมีการตั้งคณะทำงานจริง ก็ไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานมากน้อยแค่ไหน อาจจะลากไปเรื่อยจนหมดอายุของรัฐบาลก็มีความเป็นไปได้

นอกจากนี้ แกนนำรัฐบาลหลายคนเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านเป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ

แม้พรรคการเมืองและสังคมจะเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาปากท้องก่อน แต่ก็มีคำถามว่า 5 ปีที่ผ่านมา ก็มีเสียงบ่นว่า เศรษฐกิจรากหญ้าแย่ ทำไมรัฐบาลเก่าจึงไม่เร่งแก้ปัญหา หรือพยายามทำแล้วแต่แก้ปัญหาไม่สำเร็จ

ยังมีข้อสงสัยอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาปากท้อง ทำไมต้องแก้ก่อนหรือหลัง ทำไปพร้อมกันไม่ได้หรือ

และถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน พรรคประชาธิปัตย์ที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน จะให้คำตอบกับสังคมอย่างไร

ที่เคยลั่นวาจาไว้ว่า หากมีการบิดพลิ้วข้อตกลงร่วมรัฐบาล ก็พร้อมที่จะทบทวนการร่วมรัฐบาลนั้น พรรคประชาธิปัตย์ยังยึดถือเป็นจริงเป็นจังหรือไม่

พรรคประชาธิปัตย์จะว่าอย่างไรกับการที่ 7 พรรคฝ่ายค้านจะผนึกกับภาคประชาชน ในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะร่วมมือด้วยหรือไม่ หรือจะต้องรอในจังหวะที่เหมาะสม

แต่ด้วยสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องชัดเจนว่า จะเอาอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องตัดสินใจอีกครั้ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image