เดินหน้าชน : ปรับตัว

โ คโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ถูกขนานนามว่า ไวรัสหยุดโลก
การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนป่วยนับล้านและเสียชีวิตเป็นแสน

แต่ละประเทศต้องออกมาตรการรับมือและสกัดกั้น โดยเฉพาะการ “ล็อกดาวน์” มีทั้งปิดเมืองและปิดประเทศ เพื่อไม่ให้สถานการณ์แพร่ระบาดลุกลาม

ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบ บางธุรกิจต้องหยุดกิจการ ทำให้คนตกงานจำนวนมาก และประชาชนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า

และว่ากันว่า หลังวิกฤตโควิด-19 โลกจะเปลี่ยนไปจากเดิม และจะทำให้คนจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมตามไปด้วย

Advertisement

จึงมีคำเตือนจากผู้รู้ให้ประชาชนได้เตรียมตัว และปรับตัว เพื่อให้อยู่รอดในสังคมที่เปลี่ยนไป

หนึ่งในผู้รู้คือ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ที่โพสต์เฟซบุ๊ก
ระบุว่า 7 สิ่งที่จะเปลี่ยนโลกในอนาคต

1.จาก Free Market Mode ไปสู่ Co-Creative Model จากแนวคิดตลาดเสรี ที่ใช้กลไกตลาดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ละธุรกิจมุ่งหาส่วนแบ่งทางธุรกิจของตัวเองเพิ่ม จะเปลี่ยนไปสู่ แนวคิดการร่วมสร้างสรรค์ ที่ใช้พลังปัญญาของมนุษย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้า เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการผลิต ผนวกทักษะและองค์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ

Advertisement

2.จาก Competitive Mode of Production& Consumption ไปสู่ Collaborative Model of Production&Consumption จากการแข่งกันผลิต แข่งกันบริโภค ประโยชน์ตกอยู่กับคนจำนวนน้อย ไปสู่การเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ดำเนินงานแบบเกื้อกูลและแบ่งปัน

3.จาก Economic Growth ไปสู่ Thriving Balance จากการมุ่งเน้นการผลิตและการบริโภค เพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไปสู่การพัฒนาที่สมดุล ระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และความอยู่ดีมีสุขในสังคม ความยั่งยืนของธรรมชาติ

4.จาก People for Growth ไปสู่ Growth for People จากการมองคนเป็นปัจจัยการผลิตเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการเติมเต็มศักยภาพ และปลดปล่อยพลังปัญหาของมนุษย์ สร้างหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต

5.จาก Economic Life ไปสู่ Hygiene Life จากการใช้ชีวิตที่มุ่งแสวงหาความร่ำรวยและความมั่งคั่งทางวัตถุ ไปสู่การใช้ชีวิตที่สมดุล มีหลักประกันความมั่นคงปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี มีความสมานฉันท์ เข้าใจโลก เข้าใจถึงคุณค่าของการมีชีวิต ดำรงชีวิตอยู่ในความพอเพียง

6.จาก Linear Economy ไปสู่ Circular Economy จากเศรษฐกิจแบบเก่าที่นำทรัพยากรมาใช้อย่างไม่ยั้งคิด เน้นการสร้างผลกำไร โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนจาก Value Chain เป็น Value Circle เน้นการประหยัดและประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และนำสิ่งที่เหลือใช้กลับมาทำประโยชน์ใหม่ โดยเน้นความยั่งยืน

7.จาก Explotiation of the Company ไปสู่ Remedy of the Commerce จากการมุ่งแสวงหาประโยชน์จากส่วนรวม ไปสู่การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม
“รัฐมนตรีสุวิทย์” ยังได้ระบุว่า 7 สิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกหลังยุคโควิด-19 โดยสรุปคือ การพัฒนาเศรษฐกิจตามหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมอบแก่ชาวไทยและชาวโลกนั่นเอง ต้องมีความ “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน”

จากนี้ไปยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ต้องเปลี่ยนจาก GDP ไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขที่สมดุล ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสกลับมาระบาดอีก

คนไทยจึงต้องเรียนรู้ ติดตาม พร้อมปรับตัวและพฤติกรรมให้ทันกับสังคมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

รัฐบาลก็เช่นกัน ต้องทบทวนนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

อย่าให้คนต้องอดตายหรือฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

ทรงพร ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image