เปิดหน้าประชาธิปไตยž : โดย จตุรงค์ ปทุมานนท์

ส่งสัญญาณแสดงจุดยืน เปิดหน้ากันออกมา เริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับบางกลุ่ม
บางคนใน 250 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ภายหลังพรรคฝ่ายค้าน อย่าง พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่สวมบทหัวหอกหลัก

ประกาศจุดยืนยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน

ไม่ให้มีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.อีกต่อไป

Advertisement

ขณะเดียวกันยังมีแนวร่วมจาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน

จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย ประกาศจุดยืนร่วมแก้ไข มาตรา 272 เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนเจตนารมณ์และหลักการประชาธิปไตย

โดย ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจแทน ประชาชนในการเลือกนายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ใช่ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

Advertisement

เมื่อสัญญาณจากสภาผู้แทนราษฎรที่มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน

ยืนกรานจะต้องเดินหน้าแก้ไข มาตรา 272 เพิ่มเติม นอกเหนือจากจะต้องแก้ไข มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง

ยิ่งสัญญาณเดินหน้าปิดสวิตช์ ส.ว.ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ท่าทีของสมาชิกสภาสูง ต่อการยอมชัตดาวน์ตัวเอง ในการแก้ไขมาตรา 272 จึงเริ่มเปิดหน้า แสดงจุดยืนกันออกมาให้เห็น โดยท่าทีของ 250 ส.ว. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะนี้แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่สงวนท่าทีขอรอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ก่อนตัดสินใจ เป็นกลุ่มใหญ่สุด มีอยู่ประมาณ 100 กว่าคน ที่ยังไม่ตัดสินใจอะไรชัดเจน

ส่วนใหญ่เป็น กลุ่มอดีตข้าราชการทหาร ตำรวจ และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

2.กลุ่มที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากร่างของ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายค้าน มีอยู่ประมาณ 20-30 คน มีจุดยืนชัดเจนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการตั้ง ส.ส.ร. หรือการแก้ไขเป็นรายมาตรา เพื่อลดความขัดแย้งในประเทศ

เช่น นายวันชัย สอนศิริ นายคำนูณ สิทธิสมาน รวมถึง ส.ว.แถบภาคอีสาน ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ รับรู้ถึงความต้องการของชาวบ้าน พร้อมสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ

3.กลุ่ม ส.ว.อิสระ 60 คน ถึงแม้จะแสดงเจตนา เปิดหน้าพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยอมตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นการแก้เฉพาะรายมาตราเท่านั้น

ไม่เอาการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ส.ว.กลุ่มนี้จะสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คำตอบสุดท้ายที่จะทำให้ ส.ว.ในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 ยอมปิดสวิตช์ตัวเองและยกมือโหวตเห็นด้วย ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.มาดำเนินการ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน นั่นคือ รอฟังสัญญาณจาก อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แปรสภาพมาเป็น นายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง บุคคลที่แต่งตั้ง 250 ส.ว.

ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าจะให้เปิดหรือปิดสวิตช์ ส.ว.

โดยที่เปิดหน้ายอมกลับหลังหันแบบ 360 องศา อย่าง วันชัย
สอนศิริ ที่ออกมาพร้อมกับคำเตือนเพื่อนๆ ส.ว.ให้ต้องฟังอย่างตั้งใจว่า

ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งกระแสเรียกร้องจากทุกฝ่ายให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หาก ส.ว.ยังทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรมนูญ ผมคิดว่าวันนั้นนรกจะมาเยือน ส.ว.อย่างแน่นอนŽ

แต่บทสรุปสุดท้าย ทั้ง 250 ส.ว. จะมีใครจะเปิดหน้ามาเป็นฝ่ายประชาธิปไตยฟังเสียงประชาชนกันบ้าง

การลงมติในวันประชุมรัฐสภา 23-24 กันยายนนี้ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะได้เห็นคำตอบ

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image