เดินหน้าชน : เป็นซะเอง

คอลัมน์เดินหน้าชน : เป็นซะเอง โดย สัญญา รัตนสร้อย

ระยะนี้กระทรวงการคลังคงวุ่นสาละวนกับการหาแหล่งเงินมาสนับสนุนโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตร ที่กำลังประสบข้อขัดข้องทางเทคนิค เนื่องจากรัฐบาลกำลังมีหนี้สะสมชนเพดานวินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในยุค คสช.

รัฐบาลครั้งนั้นผลักดัน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 เนื่องจากเห็นรัฐบาลชุดต่างๆ ก่อนหน้า
มือเติบก่อหนี้ หากยังปล่อยให้มีการใช้เงิน ไร้หลักเกณฑ์การควบคุม จะเป็นภาระการคลังในอนาคต จึงพยายามหาทางกำกับไม่ให้ใช้เงินเกินตัว โดยมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ กำหนดว่ารัฐบาลสามารถมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดําเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยรัฐบาลจะจัดงบประมาณจะจัดเงินชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานนั้นๆ ในภายหลัง

แต่มีเงื่อนไขว่า ยอดหนี้คงค้างทั้งหมดจากโครงการลักษณะดังกล่าวรวมกัน ต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกําหนด

ปรากฏว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กําหนดอัตราไว้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

Advertisement

หากนำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นตัวตั้ง กรอบหนี้คงค้างตามมาตรา 28 ต้องไม่เกิน 9.3 แสนล้านบาท

ภายหลังกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ มีโครงการอุดหนุนภาคเกษตรมาแล้ว 2 ปี ส่วนใหญ่ภายใต้ชื่อ “การประกันรายได้เกษตรกร” ของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งชาวนาปลูกข้าว ชาวสวนปาล์ม ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การสนับสนุนต้นทุนการผลิต และความช่วยเหลืออื่นๆ ให้แก่เกษตรกร

ฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ใช้เงินช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท

Advertisement

ฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 ใช้เงินช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 1.1 แสนล้านบาท

รวมหนี้ 2 ปีที่รัฐบาลต้องทยอยจ่ายชดเชยให้กับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายดำเนินโครงการ ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท

มองเผินๆ เหมือนกับยังไม่เกินเพดาน 30%

แต่ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลมีภาระหนี้เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ที่ยังทยอยจ่ายคืนไม่หมดอีกก้อนใหญ่มหึมา ประกอบด้วย เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในโครงการอุดหนุนภาคเกษตร ร่วม 7 แสนล้านบาท

เบ็ดเสร็จทั้งเก่า-ใหม่ รัฐบาลมีหนี้คงค้างร่วม 9.3 แสนล้านบาท

หากรวมการอุดหนุนฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 ที่จะใช้เงินช่วยเหลือเกษตรกรอีกกว่า 1.7 แสนล้านบาท

ทะลุเพดานหนี้คงค้าง 30% อย่างแน่นอน

ถามว่า จะสามารถขยายกรอบนี้ได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าได้

เพราะเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา บอร์ดวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เพิ่งขยายเพดานก่อหนี้สาธารณะจากไม่เกิน 60% เป็น 70% ต่อจีดีพีมาแล้ว เพื่อนำเงินมาใช้ฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจ การดูแลด้านสาธารณสุข เยียวยาประชาชน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19

หากคราวนี้จะขยายเพดานหนี้คงค้างจากโครงการของรัฐ ก็น่าจะทำได้เช่นกัน

สิ่งที่น่าคิดก็คือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์พยายามตีกรอบ วางหลักเกณฑ์ เพื่อควบคุมการใช้เงิน ก่อหนี้ อย่างสุรุ่ยสุร่ายจากบทเรียนของรัฐบาลชุดก่อนๆ

หากต้องขยายเพดานทั้งหนี้สาธารณะ หนี้โครงการของรัฐ สองครั้งสองคราในเวลาไล่เลี่ยกัน

ตัวเองกลับมาทำเสียวินัยเอง หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image