คอลัมน์เดินหน้าชน : เกษียณไปเถอะ

คอลัมน์เดินหน้าชน : เกษียณไปเถอะ

คอลัมน์เดินหน้าชน : เกษียณไปเถอะ

ผมนั่งรวบรวมแนวคิด วิธีการ ตรรกะและไอเดียของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ในช่วงเวลาที่ต้องประสบปัญหาหรือเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ

ในช่วงที่ผักชีมีราคาแพงพุ่งไป กก.ละ 400 บาท “บิ๊กตู่” สั่งการในที่ประชุม ครม.ให้นำพื้นที่ของทหารมาปลูกผักชี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ ค่าใช้จ่ายของประชาชน

ขณะเกิดปัญหาน้ำมันดีเซลขึ้นราคา เหล่าบรรดาสมาคมรถบรรทุกออกมาประท้วงและขู่หยุดวิ่งทั่วประเทศ นายกฯก็เสนอไอเดียแก้ปัญหาโดยจะใช้รถบรรทุกของกองทัพมาขนส่งสินค้าแทน

Advertisement

แม้แต่ปัญหาหวยแพง “บิ๊กตู่” เคยประกาศตั้งแต่ยึดอำนาจเข้ามาใหม่ๆ ว่าจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็แก้ไม่ได้ ล่าสุดก็ค้นพบว่า “วิธีแก้ง่ายสุดก็อย่าไปซื้อเลขชุด มันจะถูกรางวัลได้ไม่กี่คน แบ่งๆ เฉลี่ยให้เขากันบ้าง โชคลาภ”

จนล่าสุด ตรรกะความเท่าเทียมของมนุษย์ นายกฯคนนี้บอกว่า “คนรวยก็ไปเสียเงิน (ขึ้นทางด่วน) คนรายได้น้อยก็ใช้เส้นทางข้างล่าง ผมคิดอย่างนี้นะ นี่คือความเท่าเทียม”

ตรรกะนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สุดท้ายก็ฟาดงวงฟาดงาใส่สื่อว่าตีความผิด กลายเป็นแพะไปโดยปริยาย

Advertisement

ผมว่าวิญญูชนคงไม่ถือสานายกฯคนนี้แล้ว เพราะวิบากกรรมช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์

และประเด็นความเท่าเทียมที่นายกฯคนนี้สะท้อนออกมาก็อย่าแปลกใจว่า ทำไมไทยจึงมีความเหลื่อมล้ำอันดับต้นๆ ของโลก

สำหรับผมชอบการอธิบายของ อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ลงโซเชียลปมเท่าเทียม-เหลื่อมล้ำไว้น่าสนใจ

อาจารย์ระบุว่า ถ้าเราจะเริ่มทำความเข้าใจเรื่องนี้ เราอาจเริ่มจาก (ก) การยอมรับว่า ทางด่วนและทางทั่วไป มีความสะดวก มีค่าใช้จ่าย และมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
แต่ถ้า (ข) ความแตกต่างกันนั้น ทำให้คนบางคนใช้ได้ (คุณประยุทธ์เรียกว่า “คนรวย”) แต่คนบางคนไม่ได้ใช้ (คนจน) นั้นเรียกว่า “ความเหลื่อมล้ำ”

แท้จริงแล้ว (ค) ความแตกต่างระหว่างทางด่วนและทางทั่วไป ควรจะอยู่ที่ “วัตถุประสงค์” เช่น ถ้าเร่งรีบ/เส้นทางไกลก็ขึ้นทางด่วน (ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม) ถ้าไม่เร่งรีบมากนักก็ใช้ทางธรรมดา (ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย)

แต่ (ง) คนทุกคน (ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน) ควรจะสามารถใช้ทางทั้งสองได้ ตามแต่วัตถุประสงค์ของตนในแต่ละสถานการณ์ แบบนั้นจึงจะเรียกว่า “ความเท่าเทียม”

การคิดถึงความเท่าเทียมแบบย่อหน้าก่อนหน้า จะทำให้รัฐบาลต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมอย่างน้อย 3 ประการ

หนึ่ง ทำให้ทางด่วนไม่แพงเกินไป (เพราะคนจนก็จำเป็นต้องใช้ในบางช่วงเวลา)

สอง ทำให้ทางธรรมดาก็มีคุณภาพดีพอสำหรับทุกคน (ในยามที่ไม่เร่งรีบเป็นพิเศษ)

สาม ทำให้ทุกคนมีรายได้ที่เพียงพอที่จะขึ้นทางด่วนได้ ในยามที่จำเป็น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคิดแบบคุณประยุทธ์ รัฐบาลก็คงจะไม่จำเป็นต้องทำภารกิจทั้ง 3 เลย เพราะคิดเอาเองว่า เป็นความเท่าเทียมกันที่แต่ละคนจะมีทางเลือกที่ไม่เท่ากัน หรือจะพูดในสำนวนแบบ Getsunova ว่า “เหลื่อมล้ำอย่างเท่าเทียม” กัน

แน่นอนว่า โดยธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะขึ้นทางด่วนในความถี่ที่เท่ากัน แต่สิ่งที่รัฐบาลควรคิดก็คือ ทำอย่างไร ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทางเลือกที่จำเป็นได้เท่ากัน ในยามที่เขาต้องการ

และสิ่งที่คนรวย/คนจนต้องการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตยังมีอีกหลายประการ (ไม่ใช่แค่ทางด่วน) ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การรักษาพยาบาลที่ไม่ต้องรอคิวนานเกินไป โรงเรียนที่มีคุณภาพการศึกษาใกล้เคียง/เท่าเทียมกัน

เกรงว่า ถ้าสังคมไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มีความคิดแบบคุณประยุทธ์ เราคงไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมนี้ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีดันมองว่า “ความเหลื่อมล้ำคือความเท่าเทียม” กันตั้งแต่แรก

ถ้าจะวิเคราะห์ว่าทำไม “บิ๊กตู่” จึงคิดเช่นนี้ คงต้องใช้คำพูดของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ที่บอกว่า “เราก็จะเห็นมุมมองที่ตลกและไม่เข้าใจเรื่องความเสมอภาค เพราะนายกฯอาจเคยชินกับระบบทหาร เนื่องจากระบบทหารเป็นระบบที่ไม่เคยมีความเท่าเทียมกัน ทหารชั้นสัญญาบัตรกับทหารชั้นประทวนยังแยกห้องน้ำกันเลย อีกทั้งการปฏิบัติก็ต่างกัน มีระบบคล้ายวรรณะแฝงที่เกิดขึ้นในกองทัพ นายกฯอาจเคยชินกับระบบนี้”

ณ วันนี้คงถึงเวลาที่ “บิ๊กตู่” ควรเกษียณจากเก้าอี้นายกฯได้แล้ว

โกนจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image