เดินหน้าชน : ‘หนี้ครู 2565’

ปัญหา “หนี้ครู” ในรัฐบาลชุดนี้ปักหมุดให้อยู่ในนโยบายการเร่งแก้ไขหนี้สินให้กับประชาชน พร้อมยกให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน
“หนี้ครู” เป็นปัญหาของรัฐบาลทุกยุค ไม่เคยละเลยในการจะแก้ไข แต่ไม่สัมฤทธิผลแม้แต่รัฐบาลเดียว เพราะหนี้ไม่เคยหยุดนิ่ง ครูมาใหม่ก็พร้อมจะกู้ ส่วนครูเก่าก็ไม่เคยหยุดกู้ จะฟุ่มเฟือยหรือมีความจำเป็นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นการเอาเงินในอนาคตมาใช้ อยู่ที่ว่าใครจะจัดการเรื่องหนี้เหล่านี้ได้ดีกว่ากัน

หลายคนกู้ทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและจากธนาคารของรัฐ วงเงินกู้ที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุดคือ “สหกรณ์ครู”

ทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐส่วนที่ต้องจ่ายให้กับเงินเดือนข้าราชการครูจำนวนมหาศาลมิได้ถูกนำไปใช้จ่ายหมุนเวียนในวงจรเศรษฐกิจ แต่ต้องถูกตัดเพื่อนำมาใช้หนี้สินดังกล่าว

รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการเหมือนคอยวิ่งไล่เข้าสกัดเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา ไม่ต้องถามหาความสำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายหรือไม่ แก้ได้เท่าที่จะทำได้

Advertisement

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหา สุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครูไว้น่าสนใจว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้ครู ตั้งแต่การลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก การลดยอดหนี้ด้วยหุ้นสหกรณ์ รวมทั้งการนำเงินสะสมในอนาคตจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือเงินโครงการสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ไปลดยอดหนี้

นี่คือหนี้สินครูในระบบที่สามารถรวบรวมตัวเลขหนี้ให้เห็นได้ และที่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ไม่ว่าแหล่งเงินกู้ในระบบของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหรือธนาคารที่ไหนก็ตาม ไม่มีทางรับรู้ว่าใบรับรองเงินเดือนที่แสดงเพื่อขอกู้นั้น ได้ใช้กู้ที่ไหนมาแล้วบ้าง

ในเรื่องนี้ ที่ปรึกษา รมว.ศธ.ก็บอกว่า “ปัจจุบันพบครูมีหนี้จำนวนมาก ไม่มีการควบคุมการปล่อยกู้ให้แก่ครูอย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมาเมื่อครูไปกู้เงินสถาบันการเงินจะเห็นแค่ใบรับรองเงินเดือน แต่ไม่ได้มีข้อมูลระบุว่าครูไปกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ไหนบ้าง และจะต้องมีศักยภาพกู้เพิ่มได้อีกเท่าไร่ ต่อจากนี้ไปหากครูมีความประสงค์จะไปกู้เงินอีก จะมีคณะกรรมการเข้ามาควบคุม จะทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถาบันการเงิน ครูที่ต้องการจะกู้เงินจะต้องมีเงินเดือนเหลือในบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ด้วย”

Advertisement

มีประเด็นต่อมาว่า คณะกรรมการที่จะเข้ามาควบคุมอย่างที่ที่ปรึกษา รมว.ศธ.ว่านั้น น่าจะทำงานหนักอึ้งน่าดู ได้ข้อมูลจากครูผู้ขอกู้ก็ต้องมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก จะนานแค่ไหนไม่ทราบ อีกทั้งต้องไปดูกฎระเบียบของธนาคารที่จะยอมให้ข้อมูลลูกค้าแบบนี้ได้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีหนี้นอกระบบที่ครูใช้บริการ เป็นช่องทางสะดวกกู้ได้ง่ายและเข้าถึงเร็ว แม้จะถูกคิดดอกเบี้ยสูงก็ตาม เพราะเป็นความยินยอมพร้อมใจของคนขอกู้ และยังมีหนี้บัตรเครดิตอีก

หลายคนมีวินัยจัดการระบบการชำระหนี้ได้ดี และมีอีกมากที่จำต้องปล่อยให้หนี้บานเพราะไม่สามารถผ่อนจ่ายได้ตามระยะเวลา จนเข้าสู่วัยเกษียณก็ยังเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ

ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการเปิดโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” เปิดให้ครูและบุคลากรทางศึกษาเข้ามาลงทะเบียนผ่านออนไลน์ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการเพื่อการแก้ไข
ปัญหาหนี้ ถือเป็นเรื่องดี และยังมีหน่วยงานคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาคิดกันมากมายเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครู ยิ่งช่วยผ่อนเบาภาระหนี้ครูได้แค่ไหน ครูก็จะมีกำลังใจในการเรียนการสอนนักเรียนไปด้วย

หากมองโลกในแง่ดีและด้วยความเข้าใจนับเป็นความโชคดีอย่างมหาศาลของครู มากกว่าประชาชนอีกหลายอาชีพทั้งทำงานบริษัทกินรายเดือน รายวัน ไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้า ที่ล้วนเป็นหนี้ไม่แตกต่างกัน ที่ยากจะมีหน่วยงานและองคาพยพเหล่านี้มาช่วยโอบอุ้มกันขนาดนี้

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image