เดินหน้าชน : ‘วิล สมิธ’เอฟเฟ็กต์

ไฮไลต์การประกาศผลรางวัลออสการ์ปีนี้ กลายเป็นฝ่ามือของ “วิล สมิธ” ตบไปที่หน้า “คริส ร็อก” พิธีกร หลังเขาล้อเลียนอาการป่วยของ “เจดา พิงคิตต์ สมิธ” ภรรยาที่ป่วยเป็น โรคอโลพีเซียที่ทำให้มีอาการผมร่วงเป็นหย่อม

คริส ร็อก เล่นมุขตลกถึงเจดาว่าจะรอชมเธอในภาพยนตร์เรื่อง GI Jane ภาค 2 ตัวละครเอกเรื่องดังกล่าวโกนผมติดหนังศีรษะและทรงเดียวกับเจดาในปัจจุบัน

ผลที่ตามมาคือกระแสผู้ชมทั่วโลกพากันวิเคราะห์ว่าใครถูก-ผิด ใครแพ้หรือชนะ

ปฏิกิริยาของสาธารณชนทั่วโลกผ่านโซเชียลเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย บางกลุ่มเห็นใจครอบครัวสมิธ ขณะที่บางกลุ่มตำหนิการกระทำของวิล สมิธที่ใช้ความรุนแรงเป็นการตอบโต้

Advertisement

แม้การบูลลี่ของ “คริส ร็อก” ไม่ใช่การทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่การบูลลี่อาจเป็นสาเหตุให้เหยื่อหลายรายต้องฆ่าตัวตายมาแล้ว

ขณะที่ “วิล สมิธ” คือการทำร้ายคู่กรณีโดยตรง ถือเป็นการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา

มีกระแสคนที่เห็นอกเห็นใจ “วิล สมิธ” ในบทบาทของสามีที่ปกป้องภรรยา บทบาทของความเป็นชายเพื่อทำหน้าที่พ่อและสามีตามกรอบความเป็นชาย

Advertisement

ซึ่ง “วิล สมิธ” ใช้วรรคทองแก้ตัวขณะขึ้นรับรางวัลว่า “ความรักจะทำให้คุณทำสิ่งบ้าๆ” มาเป็นแค่ข้ออ้าง

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์วิเคราะห์ว่าใครถูก-ผิด ใครแพ้หรือใครชนะ

องค์กรหลักอย่าง ดิ อะคาเดมี (The Academy) เจ้าของรางวัลออสการ์ออกมาทวีตว่า “ดิ อะคาเดมี ไม่ส่งเสริมความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใด”

จากนั้นออกแถลงการณ์ระบุว่า สถาบันจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการรวมไปถึงบทลงโทษที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยจะเป็นไปตามกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมไปถึงมาตรฐานจรรยาบรรณของสถาบัน

หลักการจรรยาบรรณของสถาบันระบุในหนังสือถึงสมาชิกว่า การเป็นสมาชิกสถาบัน เป็นสิทธิพิเศษให้กับผู้ที่ถูกเลือกจำนวนหนึ่งในชุมชนผู้ผลิตภาพยนตร์ทั่วโลก

“นอกเหนือจากการบรรลุความเป็นเลิศในด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ด้านภาพยนตร์แล้ว สมาชิกยังต้องประพฤติตนอย่างมีจริยธรรมด้วยการรักษาค่านิยมและคุณค่าของสถาบัน เช่น เรื่องการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การไม่แบ่งแยก สร้างบรรยากาศแห่งการสนับสนุน และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์”

“ไม่มีที่ยืนในออสการ์สำหรับผู้ที่ใช้สถานะอำนาจ หรืออิทธิพลในทางที่ผิด ในลักษณะที่ละเมิดมาตรฐานความเหมาะสมที่เป็นที่ยอมรับ ทางสถาบันต่อต้านการล่วงละเมิด คุกคาม หรือการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ, รสนิยมทางเพศ, เชื้อชาติ, ชาติพันธุ์, ความทุพพลภาพ, อายุ, ศาสนา หรือสัญชาติอย่างเด็ดขาด คณะกรรมการเชื่อว่ามาตรฐานเหล่านี้มีความสำคัญต่อภารกิจของสถาบันและสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของเรา”

พร้อมกับกระแสข่าวว่า วิล สมิธ อาจต้องถูกร้องขอให้ส่งคืนตุ๊กตาออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เนื่องจากเป็นการละเมิดหลักจรรยาบรรณ

แม้วันนี้ วิล สมิธ จะออกมาขอโทษ คริส ร็อก และยอมรับว่า “ความรุนแรงในทุกรูปแบบเป็นพิษและเป็นอันตราย พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และให้อภัยไม่ได้”

อย่างน้อยเรื่องนี้ก็มีบทสรุปสะท้อนว่า สังคมประชาธิปไตยท่ามกลางความขัดแย้ง ความเห็นต่าง แต่ทั้งหมดก็มิใช่เรื่องผิดแผก ทำให้สังคมต้องแตกแยกอยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะในสังคม นั้นๆ จะต้องมีองค์กรที่เป็นหลัก องค์กรที่มีมาตรฐานสังคม องค์กรที่มีมาตรฐานความคิด โดยยึดหลักความเป็นสากลเพื่อแยกแยะความถูก-ความผิด ความดี-ความเลว เพื่อให้สังคมนั้นๆ เดินหน้าต่อไปได้ตามครรลอง

กรณีของวิล สมิธ ผมเกิดจินตนาการตั้งคำถามถึงสังคมไทยว่าได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ถ้ายกตัวอย่างบทละครการเมืองเรื่องหนึ่ง ในประเทศสารขันธ์มีอิสตรีเป็นผู้นำ แต่วันดีคืนดีมีทฤษฎีสมคบคิดมีผู้นำกองทัพใช้ความรุนแรงยึดอำนาจประเทศ พร้อมใช้วรรคทองของพวกรัฐประหารว่า “ต้องการเข้ามาปฏิรูปประเทศและปราบปรามคอร์รัปชั่น”

ขณะที่องค์กรหลักๆ ของประเทศกลับเห็นดีเห็นงาม คนบางส่วนออกมายกย่องสรรเสริญแยกแยะความดี-เลว ความผิด-ถูกที่เป็นหลักสากลไม่ได้

วันนี้ผู้นำคนนั้นยังไร้สำนึกและไม่มีคำว่าขอโทษออกจากปากเฉกเช่น “วิล สมิธ”

โกนจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image