เดินหน้าชน : ‘ขุดทอง’เงินภาษี

ระบบการตรวจสอบคอร์รัปชั่นที่ล้มเหลวของสังคมไทยภายใต้ระบบอุปถัมภ์ในหน่วยราชการที่ก่อร่างสร้างตัวอย่างเข้มแข็งจากผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา

สังคมตั้งคำถามดังขึ้นกับบรรดาเหล่าอภิสิทธิ์ชนของกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และส.ว. เมื่อเกิดกรณีฉาวปม ส.ต.ท.หญิง ทำร้ายร่างกายลูกจ้างซึ่งเป็นทหารหญิง

อดีตทหารหญิงที่ถูกทำร้ายอ้างว่า เธอได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหารในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ลักษณะต่างตอบแทนผ่านความช่วยเหลือของตำรวจหญิงคนดังกล่าว แต่ต้องจ่ายเงินราว 500,000 บาท เป็นค่าดำเนินการ ก่อนที่ตำรวจหญิงได้ดำเนินการประสานงานต้นสังกัดของอดีตทหารหญิงให้โอนเธอมาช่วยราชการและบังคับให้เธอมาทำงานอยู่ที่บ้าน

ตามคำอ้างระบุว่า ตำรวจหญิงคนดังกล่าวเป็นภรรยาของ ส.ว.รายหนึ่งด้วย

Advertisement

แม้ในที่สุดกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ระบุชื่อ “ผู้ถูกกล่าวหา” คือ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ปัจจุบัน ช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า)

ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ปัจจุบัน อายุ 44 ปี จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง ด้านบัญชี จากโรงเรียนพณิชยการแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี เธอได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจขณะที่มีอายุ 39 ปี นอกจากจะเป็นข้าราชการตำรวจแล้ว เธอยังทำหน้าที่ประสานงานให้กับ ส.ว.รายหนึ่งด้วย

สังคมตั้งข้อสงสัยว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ได้รับ “อภิสิทธิ์” ด้านอาชีพการงาน ผ่านระบบอุปถัมภ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือไม่

Advertisement

เพราะนี่คือภาพสะท้อนของยอดภูเขาน้ำแข็งที่กัดกินประเทศจากผลพวงของ “ระบบอุปถัมภ์” ในหน่วยงานราชการในทุกระดับในยุคนี้

เธอเข้ารับราชการตำรวจตอนอายุ 39 ปี ซึ่งตามระเบียบได้กำหนดเพดานอายุไว้ที่ไม่เกิน 35 ปี เหตุใดเธอจึงผ่านการคัดเลือกมาได้

แม้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะออกมาแก้เกี้ยวอธิบายที่มาที่ไปของการบรรจุเข้ารับราชการตำรวจรายนี้ว่า ถ้าอายุเกินและมีเหตุผลความจำเป็นก็สามารถยกเว้นหลักเกณฑ์ เพราะตำแหน่งของเธอเป็นคุณวุฒิที่ขาดแคลน

นอกจากนี้ หนึ่งในปมที่สังคมสนใจ คือ ตำรวจหญิงผู้ต้องหาเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ ส.ว.รายหนึ่ง และมีตำแแหน่งเป็นผู้ประสานงานประจำตัวของ ส.ว.ด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่วุฒิสภาสามารถตรวจสอบอย่างง่ายๆ แต่สุดท้าย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ก็ออกมาตัดบทว่า “คำร้องนั้น ไม่ได้ระบุผู้ถูกร้อง เรื่อง และข้อบังคับที่ผิด ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ที่จะเข้าตรวจสอบ”

อีกปมที่น่าสนใจ คือ กรณีของ ส.ต.ท.หญิงอยู่ใน “บัญชีผี” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต้นสังกัดคือกองบังคับการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) และได้มีชื่อไปช่วยราชการอยู่ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ทว่าตัวนั้นไปอยู่ที่ จ.ราชบุรี

ที่ผ่านมาเป็นที่โจษจันในบรรดาทหาร ตำรวจ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ถึงการผุด “บัญชีผี” ที่มีชื่อข้าราชการระบุว่าถูกขอตัวไปช่วยราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ตัวอยู่สบายที่ไหนสักแห่งหนึ่ง เหมือนการเข้าไปขุดทองจากภาษีของชาวบ้าน เพราะมีผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งค่าเสี่ยงภัย เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ และวันทวีคูณเพิ่มอายุข้าราชการ ซึ่งจะส่งผลให้เงินบำเหน็จบำนาญที่ได้รับตอนเกษียณเพิ่มเป็นจำนวนมากด้วย

ประเด็นนี้ “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เคยอภิปรายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เสนอตัดงบประมาณในส่วนของแผนงานบูรณาการขับเคลื่อน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในหน่วยงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับงบประมาณกว่า 1,448 ล้านบาท

“รังสิมันต์” เคยตั้งคำถามว่า “การไปช่วยราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นเป็นพื้นที่ผลประโยชน์ที่ข้าราชการซึ่งไปแต่ในนามได้รับมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าเสี่ยงภัย เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ และวันทวีคูณเพิ่มอายุข้าราชการซึ่งจะส่งผลให้เงินบำเหน็จบำนาญที่ได้รับตอนเกษียณเพิ่มเป็นจำนวนมาก ซึ่งงบ กอ.รมน.ในปัจจุบันนั้นไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาไฟใต้”

การมีตำรวจผีแบบนี้ได้ภายใต้ภารกิจของ กอ.รมน. เหมือนใช้ กอ.รมน.เป็นพื้นที่ “ขุดทอง” จากเงินภาษีประชาชน

นี่คือยอดภูเขาน้ำแข็งจากผลพวงการรัฐประหาร ที่สร้าง “ระบบอุปถัมภ์” ในหน่วยราชการอย่างเฟื่องฟูในยุคนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image