เดินหน้าชน : จนพุ่ง-หนี้ล้น

ผมได้ข้อมูลล่าสุด กระทรวงการคลังเปิดเผยตัวเลขเปิดรับลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 5-26 กันยายน 2565 มีประชาชนลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 18,058,564 ราย

โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะได้รับบัตรคนจนใบนี้ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือ ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 1 แสนบาท เช่น เงินฝาก สลาก พันธบัตรรัฐบาล หากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินของครอบครัวเฉลี่ยไม่เกินคนละ 1 แสนบาท เป็นต้น

และยังมีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ไม่มีบัตรเครดิต ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ไม่มีประวัติซื้อขายหุ้น มีวงเงินกู้ซื้อบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มีวงเงินกู้ซื้อยานพาหนะไม่เกิน 1 ล้านบาท ใครมีคุณสมบัติครบตามนิยามนี้ ถือว่าเป็น “คนจน” ได้

คนไทยมีคนจนกว่า 18 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคน หรือประมาณคร่าวๆ 25% ของประเทศ

Advertisement

นอกจาก “คนจน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากแล้ว ข้อมูล “หนี้ครัวเรือน” ที่ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผยตัวเลขก็น่าตกใจเช่นกัน

เพราะตัวเลขที่เปิดเผยออกมา พบว่าหนี้ครัวเรือนนั้นคือปัญหาเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้รุนแรงขึ้นในช่วงโควิด เห็นได้จากปี 2553 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 60% ของจีดีพี ผ่านไป 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 80% ของจีดีพีในปี 2562

และตัวเลขล่าสุดช่วงไตรมาส 2/2565 หนี้ครัวเรือนของคนไทยอยู่ที่ 88% ของจีดีพี

Advertisement

เพียงแค่ 10 ปี หนี้ครัวเรือนกระโดดเพิ่มพรวดกว่า 28%

คงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าในทางการเมืองพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยจะออกมากระทุ้งเรื่องนี้ นำโดย พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง และ จุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตบางรัก ที่ประจานความล้มเหลวถึงตัวเลขการแจกบัตรคนจนทะลุไปกว่า 18 ล้านคน

มันเป็นการสะท้อนผลงานการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของรัฐบาลที่ไร้ศักยภาพ ทำเศรษฐกิจล้มเหลว คนไม่มีงานทำ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่าบอกว่าบัตรคนจนช่วยให้คนไทยหายจน แต่แท้จริงแล้วเป็นการแจกเงินเพื่อหวังผลทางการเมือง ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ การสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับประชาชนเพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน

ถึงแม้รัฐบาลจะออกมาตอบโต้ผ่าน “ทิพานัน ศิริชนะ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ที่บอกว่า พรรคเพื่อไทยให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนทั้งตัวเลขและจุดมุ่งหมาย เพราะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ไม่ได้เป็นโครงการที่สะท้อนภาพความยากจนหรือจำนวนคนยากจนแบบที่พรรคเพื่อไทยพยายามสร้างวาทกรรม

บัตรคนจนใบนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อแจกเงิน แต่เป็นโครงการที่มุ่งจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชนที่มีสิทธิพึงได้รับเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การลงทะเบียนรอบใหม่ปี 2565 ที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ 20 ล้านคน ไม่ได้แสดงถึงจำนวนคนจนเพิ่มมากขึ้น

การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่อัพเดต ถูกต้อง ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้สามารถจัดสรรสวัสดิการได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม แต่เป็นเรื่องที่แสดงถึงความสำเร็จการทำงานเชิงรุก เป็นความจริงใจในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคให้กับประชาชน

หากผมจะย้อนกลับมาดูคุณสมบัติของผู้ที่จะลงทะเบียนตั้งแต่ต้น ที่ระบุว่า มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี คือ คนไทยที่ไม่ยากจน สามารถดำรงชีวิตอยู่ยุคข้าวยากหมากแพงนี้ได้ ผมก็ขออนุโมทนาด้วย

ฟากการเมืองตอบโต้กันไปมา ประชาชนอย่างเราก็ได้แต่นิ่งฟัง คงต้องหันมาถามเจ้าของประเทศนี้เองแล้วว่าวันนี้ผลงานการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นอย่างไรบ้าง

คุณภาพชีวิตคนไทยวันนี้ดีขึ้นหรือแย่ลง ความยากจน ความลำบากเป็นอย่างไร คนไทยทุกคนคงได้ลิ้มรสชาติกันหมดแล้ว

สิ่งที่ประเมินได้ดีที่สุด คือเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้า ผมว่าประชาชนน่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุดว่ายังคงจะโหยหาให้ “บิ๊กตู่” และรัฐบาลชุดนี้กลับมาบริหารประเทศกันอีกหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image