เดินหน้าชน : ถลุง ‘25.4 ล้านล.’

ผมได้อ่านคอลัมน์ “หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว” ในมติชนสุดสัปดาห์ เขียนโดย มุกดา สุวรรณชาติ เรื่อง รัฐบาลใช้งบประมาณ 8 ปี 25.4 ล้านล้าน ถึงมือใครบ้าง สร้างหนี้เท่าไร

พบว่ามีการรวบรวมตัวเลขการใช้งบประมาณของ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาไว้อย่างน่าสนใจ

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เริ่มใช้งบประมาณในการบริหารประเทศ เริ่มจากงบประมาณซึ่งรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเหลือค้างอยู่

จากนั้นก็ได้เริ่มตั้งงบประมาณเพื่อบริหารตามนโยบายของรัฐบาลตนเอง งบประมาณปี 2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท, ปี 2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท และเพิ่มงบกลางปี วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท, ปี 2560 วงเงิน 2.73 ล้านล้านบาท เพิ่มงบกลางปี วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท, ปี 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท เพิ่มงบกลางปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท, ปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท, ปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท และออก พ.ร.ก.กู้เงินสู้โควิด 1 ล้านล้านบาท, ปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ออก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด 5 แสนล้านบาท, ปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท รวมงบประมาณที่ใช้บริหารตามปกติ 23.916 ล้านล้าน งบประมาณที่ขอเพิ่มเติมเพื่อสู้กับโควิดอีก 1.5 ล้านล้านบาท

Advertisement

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาใช้เงินไป 25.4 ล้านล้านบาท

เงินก้อนนี้หากแจกทั้งประเทศจะได้ครอบครัวละ 1 ล้าน ขณะนี้ประชากรในประเทศไทยมีประมาณ 66 ล้านคน ถ้านับเป็นจำนวนครอบครัวมีอยู่ประมาณ 22 ล้านครอบครัว ตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ครอบครัวละประมาณ 3 คน) เงิน 25.4 ล้านล้าน ตัดออก 1.5 ล้านล้านที่เอาไปสู้กับโควิด ก็ยังเหลืออีก 23.9 ล้านล้าน ถ้าเอามาแจกครอบครัวละ 1 ล้านบาท 22 ล้านครอบครัว ก็ยังเหลือเงินอีก 1.9 ล้านล้าน

ถ้านำเงินมาแจกได้จริง แต่ละปีทุกครอบครัวจะได้รับการแจกเงินครัวเรือนละ 125,000 บาท ทุกปี เป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน ผู้คนคงอยากให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อไปนานที่สุด

Advertisement

แต่ในความเป็นจริง มีเงินที่เหลือแจกสู่มือประชาชนจำนวนเพียงน้อยนิดได้เป็นหลักพันบ้าง หลักร้อยบ้าง คนละครึ่งบ้าง และที่แจกก็ยังเป็นเงินที่กู้มาในกรณีโรคระบาดโควิด-19

ถ้าอย่างนั้นเงินถูกใช้ไปไหนจนหมดและยังกู้มา ตลอดทั้ง 8 ปี เป็นงบประมาณแบบขาดดุลเนื่องจากรายรับของรัฐบาลมีไม่พอ จึงต้องไปกู้มาเติมทุกปี เช่น ปี 2564 และ 2565 ก็ต้องกู้มาเพิ่มปีละ 7 แสนล้าน

ขณะนี้คนไทยแบกหนี้สาธารณะครอบครัวละ 468,000 บาท และต้องแบกรับหนี้เพิ่มขึ้นทุกปีเฉพาะส่วนที่รัฐบาลกู้นี้เรียกว่าเป็นหนี้สาธารณะ

สมัยรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนที่จะมี กปปส.มาขับไล่ ประเทศไทยมียอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 มีจำนวน 5,430,560.04 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.49 ของจีดีพี

หลังจากนั้นไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำรัฐประหาร และเข้าบริหาร แต่ 8 ปีผ่านไป ยอดหนี้สาธารณะคงค้างพุ่งสูงถึง 10,311,731.5 ล้านล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 เพราะงบประมาณทุกปีตั้งยอดใช้เงินมากกว่ารายรับ เรียกว่างบขาดดุล จึงต้องกู้เพิ่มเติมประมาณ 5 ล้านล้านบาท

พอถึงเดือนมีนาคม 2565 หนี้สาธารณะก็ทะลุเพดานที่ตั้งไว้ว่าไม่ให้เกิน 60% ไปอยู่ที่ 60.58% ต่อจีดีพี มูลค่ากว่า 9.95 ล้านล้านบาท และทะลุ 10 ล้านล้าน ในเดือนมิถุนายน แต่เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน เห็นชอบให้ขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะ เพิ่มเป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพี จึงสามารถกู้เพิ่มได้อีก

เฉลี่ยแล้วคนไทย 22 ล้านครอบครัวไม่เพียงแต่ไม่ได้รับแจกเงินครอบครัวละ 1 ล้าน แต่ยังจะต้องช่วยกันใช้หนี้อีกประมาณครอบครัวละ 468,000 บาท

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ประเทศได้พัฒนาอะไรไปบ้าง ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ มีรายได้ มีการค้าขาย การผลิตดีขึ้นอย่างไร

จึงมีคำถามว่าเงินหายไปไหน

อาจมีคำตอบว่าหายไปกับการคอร์รัปชั่นการจัดซื้อจัดจ้าง การประมูล ยุคนี้การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นทั้งระบบ ไม่ยกเว้นวงการไหนทั้งสิ้น ทุกวงการโกงกันตั้งแต่บนจนถึงล่าง งบประมาณจะเหลือมาใช้จริงได้เท่าใด มีผู้คาดการณ์ว่าน่าจะหายไปถึง 1 ใน 3 นั่นหมายถึงเงิน 1 ล้านล้านต่อปี

เงินส่วนที่ 2 ซึมไปตามระบบที่เปิดช่องไว้ ผ่านไปตามเงินเดือนค่าตอบแทน เบี้ยประชุม ส่วนแบ่งค่าปรับ เงินเพิ่มพิเศษ มีทั้งของนักการเมือง ข้าราชการธรรมดา และผู้ที่มีชื่อว่าทำงานใน กอ.รมน.

เงินส่วนที่ 3 ผ่านไปตามระบบการค้าสู่เจ้าของกิจการและทุนใหญ่ เช่น เงินที่แจกมาให้ประชาชน ผ่านบัตรคนจนแต่ต้องซื้อของในร้านค้าที่อยู่ในระบบ หรือการเปิดช่องทางสัมปทาน

ในขณะที่ครัวเรือนไทยมีหนี้สินสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ 14.97 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี

การเลือกตั้งใหญ่อีกไม่กี่เดือน ใครที่ชื่นชมผลงานผู้นำและองค์ประกอบของรัฐบาลชุดนี้ หรือใครที่มองว่าจะกลับเข้ามาสร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่ ก็เอาที่สบายใจกันได้เลย …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image