เดินหน้าชน : รีชาร์จ‘อีอีซี’

การเมืองไทยกำลังฝุ่นตลบ คลุ้งไปด้วยหมากเกมทั้งบนบกและใต้ดิน ก่อนเข้าสู่ศึกเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ขณะที่ภาคเศรษฐกิจไทยยังต้องเดินหน้าต่อไปท่ามกลางปัจจัยทั้งบวก-ลบ

แม้จะมีข่าวดีจากราคาน้ำมันและก๊าซ เริ่มอ่อนตัวลง (แต่ยังอยู่ในระดับสูง) อีกทั้งเงินบาทแข็งค่าขึ้น ค่าไฟฟ้ารอบใหม่มีโอกาสสูงที่จะลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตต่างๆ ถูกลงกว่าเดิม

แต่อย่าลืมว่า ช่วงที่น้ำมันและก๊าซแพง ต้องนำเงินจากแหล่งต่างๆ ไปโปะเพื่อตรึงไม่ให้ราคาพุ่งเกินไป ดังนั้น เมื่อราคาพลังงานขาลง ก็ไม่อาจลดตามได้เต็มที่ เพราะต้องกันเงินส่วนหนึ่งไปใช้หนี้คืน

Advertisement

ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากเงินเฟ้อสูง และดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกไทย ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ผลกระทบเริ่มเห็นเมื่อไตรมาสสุดท้ายปี 2565 ที่การส่งออกติดลบ 3 เดือนติด ตุลาคม -4.4% พฤศจิกายน -6% และธันวาคม -14.6% แต่ 9 เดือนแรกปี 2565 การส่งออกขยายตัวได้ดี ทำให้เฉลี่ยทั้งปี 2565 ยังเป็นบวกได้ 5.5%

แต่ปี 2566 นี้ ส่งออกไทยต้องเหนื่อยหนักแน่นอน ทั้งภาคเอกชนและรัฐคาดว่าจะขยายตัวแค่ 1-2% แต่บางสำนักมองว่าอาจถึงขั้นติดลบด้วยซ้ำ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีฟันเฟืองตัวอื่นมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนึ่งนั้นคือภาคการท่องเที่ยว ที่กลับมาฟื้นตัวได้จังหวะพอดีเพื่อรองรับการส่งออกที่ชะลอตัวลง

แม้รายได้จากการท่องเที่ยวยังห่างไกลเมื่อเทียบกับการส่งออก แต่ก็พอช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดฮวบเกินไป

อีกฟันเฟืองหนึ่งคือการลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อปี 2565 ข้อมูลจากบีโอไอ มีบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน 2,119 โครงการ เงินลงทุนกว่า 6.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 39%

ส่วนปี 2566 ก็มีสัญญาณบวกที่จะมีการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นที่ฮือฮาเมื่อ “แจ๊ค หม่า” ผู้ก่อตั้ง “อาลีบาบา กรุ๊ป” มาปรากฏตัวที่ไทย หลังจากเก็บตัวเงียบไปนานกว่า 2 ปี หลายคนเชื่อว่าคงไม่มาแค่พักผ่อน และแวะกินอาหาร “ร้านเจ๊ไฝ” เท่านั้น ด้วยเพราะมี “สุภกิต เจียรวนนท์” ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกบอยู่ด้วย

อีกทั้งมีข่าวว่า “แจ๊ค หม่า” เดินทางไปดูกิจการต่างๆ ในเครือซีพีด้วย คาดกันว่าอาจร่วมลงทุนอะไรเพิ่มเติมในไทย

จากก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2561 “แจ๊ค หม่า” มาไทย ประกาศลงทุนโครงการศูนย์กลางดิจิทัล (Smart Digital Hub) ในพื้นที่เขตการค้าเสรีดิจิทัล (Digital Free Trade Zone) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีรายงานว่าโครงการนี้ทดลองเปิดใช้งานแล้วเมื่อ 8 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับโครงการอีอีซี ขับเคลื่อนผ่านแผนเฟส 1 ไปแล้ว (ปี 2561-2565) มีการอนุมัติการลงทุนทั้งรัฐและเอกชนรวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาท

เมื่อปลายปีที่แล้ว คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เคาะแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซี เฟส 2 ใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2570) ตั้งเป้าจะมีการลงทุนในพื้นที่ 2.2 ล้านล้านบาท

แต่ “คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาฯอีอีซี ครบวาระพ้นตำแหน่งไป การขับเคลื่อนอีอีซีดูจะซึมๆ ไป นักลงทุนต่างชาติก็ไม่รู้ว่าไทยจะเดินหน้าอย่างไรต่อ

เมื่อสรรหาใหม่ จนได้ “ดร.จุ๊-จุฬา สุขมานพ” เป็นว่าที่เลขาฯอีอีซี

เป็น “ดร.จุ๊” ที่เคยโชว์ผลงานชิ้นโบแดง เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ช่วยให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ปลดธงแดงอุตสาหกรรมการบินของไทยได้สำเร็จเมื่อปลายปี 2560

เมื่อ “ดร.จุ๊” มานั่งเก้าอี้ใหม่ คงต้องรีชาร์จอีอีซีให้เป็นแม่เหล็กกลับมามีพลังดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น แม้เป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะหนักหนาพอควร แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image