เดินหน้าชน : แก้ที่ต้นตอ

แก้ที่ต้นตอ

อัตราค่าไฟฟ้ารอบเดือนมกราคม-เมษายน รัฐบาลเน้นหนักเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มบ้านพักอาศัยให้จ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และพยายามประคับประคองผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น รวมทั้งภาคการผลิต อุตสาหกรรม คิดราคา 5.33 บาทต่อหน่วย

ขณะที่อัตราค่าไฟจริงสูงกว่านั้น คือเฉลี่ย 5.69 บาทต่อหน่วย

ปัจจัยหนึ่งของอัตราค่าไฟสูง มักถูกพูดถึงบ่อยๆ มาจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้า พุ่งเป้าไปยังก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงมีราคาทรงตัวในระดับสูง

Advertisement

ทั้งที่มีภาระต้นทุนอื่นควรให้ความสนใจเช่นกัน

หนึ่งในต้นทุนถูกแฝงเข้ามาอยู่ในค่าไฟนอกเหนือจากค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ยังเป็นผลมาจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ของไทย ปัจจุบันอยู่ในช่วง พีดีพี 2018 ระหว่างปี 2561-2580

มีการพยากรณ์ความต้องการใช้คลาดเคลื่อนสูงเกินจริงไปไกล ทำให้วางแผนลงทุนเกินความจำเป็น ดึงภาคเอกชนเข้ามาผลิตกระแสไฟฟ้าในสัดส่วนมากเกินควร

Advertisement

เห็นได้จากภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศรวมแล้วประมาณ 5 หมื่นเมกะวัตต์ แบ่งเป็นของไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 1.7 หมื่นเมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าเอกชนบวกกับรับซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน กว่า 3.2 หมื่นเมกะวัตต์

ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของไทยในปี 2565 อยู่ที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์

หมายความว่า เรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงกว่า 34% สูงกว่าเกณฑ์ที่ยอมรับได้ในความมั่นคงของไฟฟ้าอยู่ที่ 15%

การมีสำรองสูงระดับนั้น มองเผินๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี ยิ่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

แต่ในความเป็นจริงมีราคาที่ต้องจ่าย เพราะในสัญญารับซื้อไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับโรงไฟฟ้าเอกชน กำหนดให้ กฟผ.ต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย (ไฟฟ้า)” หรือ “เทก ออร์ เปย์” ให้เอกชน หมายถึงแม้กระแสไฟฟ้าส่วนเกินไม่ได้ถูกใช้ แต่รัฐก็ต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชน (เป็นหลักประกันให้เอกชนที่ต้องพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าเมื่อมีความต้องการ)

มีข้อมูลการจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ล่าสุด ในรอบค่าไฟฟ้าเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 กฟผ.ต้องควักให้โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) จาก 13 แห่ง มีอยู่ 7 แห่ง
ที่ กฟผ.ต้องจ่ายค่าซื้อไฟฟ้าโดยไม่มีหน่วยผลิตไฟฟ้า หรือหมายถึง “ค่าความพร้อมจ่าย” ร่วม 8 พันล้านบาท

แน่นอนวงเงินดังกล่าวถูกส่งผ่านมาเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้ เมื่อย้อนไปดูข้อมูลภาพรวมการผลิตไฟฟ้าปัจจุบัน พบว่า กฟผ.มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 32% ขณะที่อีกประมาณ 68% เป็นของภาคเอกชน

มีแนวโน้มด้วยว่า ในปีนี้ส่วนแบ่งของ กฟผ.อาจลดลงไปเหลือ 25%

การที่ภาคเอกชนมีสัดส่วนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากยืมจมูกคนอื่นหายใจ ถือเป็นความเสี่ยงหรือไม่

เพราะฉะนั้น หากเราอ้างภาระค่าไฟแพงในปัจจุบันเป็นผลจากก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูงในปัจจุบัน

นั่นก็ถือเป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น

ลึกลงไปยังฐานใหญ่ การคำนวณที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2018 หรือพีดีพี 2018 ที่ต้องใช้จากนี้ไปอีก 15 ปี ถือเป็นต้นตอสำคัญของค่าไฟแพงต่อเนื่องยาวนาน

รวมถึงความเสี่ยงจากการฝากความมั่นคงด้านพลังงานไว้กับภาคเอกชนเป็นด้านหลัก

ถึงเวลาต้องมาทบทวนปรับปรุงแผนพีดีพี 2018 กันอย่างจริงจัง เติมบทบาท กฟผ.เพื่อขยายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า เป็นผู้เล่นหลักในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และดูแลประชาชนในฐานะหน่วยงานรัฐ

กลับเริ่มต้นอย่างถูกที่ถูกทาง แทนจะปล่อยให้กลัดกระดุมผิดเม็ดไปเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image