เดินหน้าชน : เลือกปธ.สภา-นายกฯ

เดินหน้าชน : เลือกปธ.สภา-นายกฯ

วิเคราะห์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาว่า ภายหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ใครจะได้เป็นนายกฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่ามีแต้มต่อเพราะมี ส.ว. 250 คน ที่ตัวเองในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.คัดเลือกและแต่งตั้งมากับมือ

ไปหาเสียง ส.ส.มาอีกแค่ 127 เสียง บวกกับ ส.ว. 249 เสียง (ประธานวุฒิสภางดออกเสียง) รวมเป็น 376 เสียง ก็ได้ครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้ว

Advertisement

แต่อย่าลืมว่า การเป็นนายกฯนำไปสู่การฟอร์มรัฐบาล จะต้องตั้งอยู่บนฐานของการได้เสียง ส.ส.เกินครึ่งหนึ่งด้วย

นั่นคือต้องได้ไม่ต่ำกว่า 250 เสียงจาก ส.ส.ทั้งหมด 500 เสียง ถ้าให้ดีควรมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 300 เสียง

ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะ “รวมพรรค-รวมพวก” ที่เป็นขั้วรัฐบาลเดิมและไปหาพรรคใหม่มาเพิ่มได้ถึง 250 เสียงหรือไม่?

Advertisement

สมมุติหาไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยากที่จะเป็นนายกฯต่ออีก 2 ปี

การจะเป็นนายกฯต้องผ่านด่านการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน ซึ่งมีนัยสำคัญในการได้ตัวนายกฯ

ย้อนไปดูเหตุการณ์หลังเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2562 พอรู้ผลว่าแต่ละพรรคได้ ส.ส.กี่ที่นั่ง แกนนำพรรค ปชป. (ได้ 53 เสียง) กับแกนนำพรรคภูมิใจไทย (ได้ 51 เสียง) ได้หารือกันและจับมือกันแน่นว่าจะไม่ทิ้งกัน

เกมการต่อรองเกิดขึ้นทันที อาศัย ส.ส. 2 พรรครวมกันได้ 104 เสียง

กระโดดขึ้นขี่คอพรรคพลังประชารัฐที่ได้ ส.ส. 116 เสียง ภายใต้การนำของอุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่อ่อนหัดทางการเมือง

25 พฤษภาคม 2562 ก็มีการประชุมสภา เมื่อพรรคพลังประชารัฐตามกลเกมการเมืองไม่ทัน ทำให้ “ชวน หลีกภัย” พรรค ปชป.ได้เก้าอี้ประธานสภาและเป็นประธานรัฐสภา ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไปครองแบบ “สบาย-สบาย”!

“สุชาติ ตันเจริญ” พรรคพลังประชารัฐหมายมั่นปั้นมือว่าจะขึ้นนั่งเก้าอี้ตัวนี้ในฐานะพรรคหลัก มี ส.ส.มากที่สุดได้แค่รองประธานฯคนที่ 1

พร้อมกันนั้น 2 พรรคนี้ ก็จับมือกันขอเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงหลักๆ ไปครอง

5 มิถุนายน 2562 ชวน หลีกภัย ก็นัดประชุมรัฐสภาเพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.เลือกนายกฯ

เป็นการแข่งขันกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ 500 เสียง ขณะที่ธนาธรได้เพียง 244 เสียง

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ 500 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาเพราะ ส.ว. 249 คน พากันโหวตให้โดยพร้อมเพรียง

รวมเวลาประมาณ 2 เดือน 13 วัน นับจากวันเลือกตั้ง 22 มีนาคม ถึง 5 มิถุนายน

ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 หากใช้เวลาเท่าๆ กันกับครั้งก่อน

ราวปลายเดือนกรกฎาคมนี้ก็จะได้นายกฯคนใหม่

ใครจะเป็นนายกฯ จะรู้กันเมื่อตอนเลือกประธานสภา ไม่ใช่ไปรู้กันตอนจะเลือกนายกฯ

ตัวแปรสำคัญที่จะส่งสัญญาณ ถึงคนจะเป็นนายกฯ คือ

พรรคเพื่อไทยที่ตั้งเป้าแลนด์สไลด์ จะได้ถึง 220-250 เสียงหรือไม่?

พรรค “ขนาดกลาง-ขนาดย่อมๆ” ได้แก่ ก้าวไกล เสรีรวมไทย ไทยสร้างไทย ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ รวมกันแล้วได้เสียง “เป็นน้ำ-เป็นเนื้อ” ไปเติมให้กับพรรคเพื่อไทยมากเพียงพอที่จะเลือกคนของพรรคเพื่อไทยเป็นประธานสภาหรือไม่?

พรรคพลังประชารัฐ หรือ ปชป. หรือ ภท. พรรคไหนจะร่วมโหวตให้กับขั้วเพื่อไทย

นี่คือ “ช็อตแรก” ของการ “วัดดวง-ทดสอบ” พลังผ่านการโหวตเลือกประธานสภา

เมื่อทุกอย่างลงตัว เก้าอี้นายกฯก็ไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม

ส.ว.จะโหวตใครเป็นนายกฯพวกเขาจะต้องไปคิดเองว่า

ถ้าโหวตสวนกระแสสังคม ไม่ตอบสนองเจตนารมณ์ประชาชน ส.ว.จะเผชิญอะไรบ้าง!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image