ลุ้นกันยาวๆ

ลุ้นกันยาวๆ

ลุ้นกันยาวๆ

ไทม์ไลน์ของการได้รัฐบาลใหม่ที่จะมีขึ้นตั้งแต่กรกฎาคมจนถึงสิงหาคม 2566 เริ่มขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ เวลาไม่เคยรอใคร โดยเฉพาะทีมเจรจาพรรคก้าวไกลต่างเหยียบคันเร่งจมมิด ประสานสิบทิศกลุ่ม ส.ว.ที่พร้อมรับฟังคำชี้แจง ต้องไปอ่านเกมและเดาใจ ส.ว.

การให้เหตุผลว่าทำไม ส.ว.ต้องเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียง ส.ส.ในกำมือแล้ว 313 เสียง ยังขาด ส.ว.โหวตเติมเต็มอย่างน้อยอีก 63 เสียง ให้เกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภา

Advertisement

ในความเป็นจริง โลกของประชาธิปไตย ผลการเลือกตั้ง ส.ส.สามารถรวบรวมเสียงสภาผู้แทนฯได้เกินกึ่งหนึ่ง เป็นบ้านเมืองอื่นๆ ได้นายกฯคนใหม่ แต่งตั้งรัฐมนตรีกันไปแล้ว แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดต้องผูกเสียง ส.ว. เข้ามาโหวตร่วมด้วย ทำให้วันนี้ประเทศไทยเหมือนไปไม่ถึงไหน

ส่วนเสียงเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ตกเป็นว่าที่พรรคฝ่ายค้านช่วยกันปิดสวิตช์ ส.ว.เหมือนที่โวกันไว้ตอนหาเสียง กลับมีแต่ความเงียบ มีการอ้างเหตุผลอื่นๆ ตามมา

ไม่มีใครเล่นด้วย บางพรรคยืนยันชัดเจนว่าไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคก้าวไกลเด็ดขาด

Advertisement

อีกทั้ง ช่วงหลังรู้ผลชนะแพ้การเลือกตั้ง พรรคใหญ่ทั้งประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐและภูมิใจไทย ไม่ค่อยสบอารมณ์กับแกนนำพรรคก้าวไกลบางคนที่ใช้ฝีปากจัดหนักพูดจาเสียดสีอย่างน่าเจ็บปวด ทั้ง 3 พรรคต่างผูกใจเจ็บที่ถือเป็นเหตุผลหนึ่งจะไม่โหวตให้ ยังไม่นับเรื่องของเกมการเมืองล้วนๆ จะเทเสียงง่ายให้ “พิธา” ได้อย่างไร

ประเด็นขอเสียง ส.ส.จากนอกพรรคร่วมรัฐบาลจึงลืมไปได้เลย ยิ่งกว่าจะไล่ปิดสวิตช์ ส.ว.

ขณะเดียวกันยังเกิดม็อบไปกดดัน ส.ว.ให้แสดงสิทธิในการโหวตตามมติมหาชนที่เลือกพรรคก้าวไกลเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ ส.ว.หลายคนไม่สบายใจกับเรื่องทำนองนี้ เพราะก็มีสิทธิที่จะคิดและคิดเองได้ เท่ากับทีมเจรจาของก้าวไกลเจอโจทย์ยากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งที่การเข้าไปพูดโน้มน้าวแต่เดิมก็สาหัสอยู่แล้ว เจอความซับซ้อนเข้าไปอีก จะถูกมองว่ามีใครไปหนุนหลังม็อบหรือไม่ ทั้งที่เป็นการแสดงสิทธิตามธรรมชาติ

แม้พิธาจะบอกว่าการเจรจากับ ส.ว.กำลังดำเนินไปด้วยดี หลายคนรับฟังเหตุและผลเพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้

ถ้ามองจากสถานการณ์ การเดาทาง ส.ว.ขณะนี้ ยากที่จะเห็นว่า ส.ว.พร้อมจะร่วมมือช่วยกันสนับสนุน

พรรคก้าวไกลต้องเป็นหัวหมู่ในการเจรจาขอเสียงเป็นหนทางดีที่สุดในเวลานี้ เมื่อทำดีที่สุดแล้ว ผลตอบรับจะเป็นอย่างไร จะได้ ส.ว.ครบตามที่รัฐธรรมนูญในการโหวตผ่านหรือไม่

เข้าใจว่าแกนนำพรรคก้าวไกลก็เตรียมแผนสองไว้แล้วเช่นกัน

ในวันนี้ “พิธา” ยังไม่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ตีตั๋วเดินสายพูดคุยกับหลายภาคส่วนล่วงหน้าไปแล้ว โดยเฉพาะภาคผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า หลังได้บริหารบ้านเมืองก็ต้องขอความร่วมมือ ความเข้าใจจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม หาก “พิธา” ผ่านด่าน ส.ว.มาได้ ยังต้องเผชิญกับการจัดพื้นที่กระทรวงต่างๆ ภายในพรรคร่วมรัฐบาลให้ลงตัวอีก นอกจากเอ็มโอยู 23 ข้อ และ 5 ข้อแนวทางปฏิบัติได้รับการเผยแพร่แล้ว ที่พยายามเน้นว่าจะมุ่งแก้และช่วยเหลือประชาชนผ่านนโยบายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ตกผลึกการพูดจา รับฟัง และพินิจพิเคราะห์มาพอสมควรแล้ว การจัดสรรเก้าอี้กระทรวงให้กับพรรคต่างๆ จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาก่อน

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาแบ่งเก้าอี้กระทรวง ก็ไม่ง่าย แม้พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลจะมีสิทธิเหนือกว่า แต่การรับฟังและร่วมมือที่ทำมาแต่ต้นตั้งแต่จับมือกันครั้งแรกก็ต้องประสานให้ลงตัวไปตลอด บางคนที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลอาจจะมองว่า ยอมถอยนโยบายหาเสียงตัวเองมาเยอะแล้ว แต่ก็ไม่ต่างกับพรรคอื่นๆ ที่แม้เสียง ส.ส.ห่างกันลิบลับ ก็ยอมถอยนโยบายหลายข้อเช่นกัน

ถนนที่จะนำพา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ยังต้องลุ้นกันยาวๆ ต่อไป

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image