เดินหน้าชน : ล้างบางส่วย

เดินหน้าชน : ล้างบางส่วย

กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ไม่แพ้การลุ้นจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล

จากกรณี “ส่วยสติ๊กเกอร์” รถบรรทุกสิบล้อ ที่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ออกมาเปิดประเด็นแฉขบวนการส่วยสติ๊กเกอร์ ที่ว่ากันว่ามีขบวนการโยงใยหลายส่วน พร้อมเดินหน้าหาหลักฐานที่จะเอาผิดคนที่เกี่ยวข้อง

การออกมาเดินหน้าตรวจสอบเรื่องนี้ เป็นการการันตีว่าปัญหาส่วยรถบรรทุกยังอยู่ แม้ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมาหลาย 10 ปีแล้ว

Advertisement

อีกทั้งยังสะท้อนภาพการเพิกเฉย หรือไม่เอาจริงเอาจังในการปราบปรามของภาครัฐ

ตัวเลขคร่าวๆ ของการจ่ายส่วยสติ๊กเกอร์เดือนละราวพันล้านบาท ตามที่ “อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง” ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีรถบรรทุกที่จ่ายค่าสติ๊กเกอร์อยู่ประมาณ 150,000-200,000 คัน จากจำนวนรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,500,000 คัน ในจำนวนที่จ่ายสติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุกเฉลี่ยต่อเดือนมีมูลค่านับพันล้านบาท

ว่ากันว่าหากมีการตรวจสอบกันจริงๆ ตัวเลขการจ่ายส่วยอาจจะมากกว่านี้ได้

Advertisement

หากย้อนไปช่วงปี 2560 ในแวดวงวิชาการนั้นเคยมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ โดย “รศ.อังคณาวดี ปิ่นแก้ว” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริต : ศึกษากรณีรถบรรทุกหนักเกินพิกัดกฎหมาย

มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อระบบการตรวจชั่งน้ำหนักต้องเริ่มต้นการตรวจชั่งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเปิดช่องให้มีการติดสินบนหรือจ่ายส่วยแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อหลบเลี่ยงการเข้าชั่งน้ำหนัก โดยผู้ที่จ่ายส่วยจะไม่ต้องเข้าชั่งน้ำหนัก ณ ด่านชั่งถาวร รวมถึงทราบข้อมูลเส้นทางที่จะมีการตั้งด่านเคลื่อนที่ เพื่อสุ่มตรวจน้ำหนัก โดยได้รับแจ้งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในขบวนการส่วย

ในงานวิจัยระบุด้วยว่า “การจ่ายส่วยมีหลายรูปแบบและหลายราคา แตกต่างกันไปตามเส้นทาง ระยะทาง และระดับความคุ้มครอง เมื่อการจ่ายส่วยทำให้บรรทุกได้มากขึ้น จึงมีการบรรทุกให้มากสุดเท่าที่ทำได้เพื่อกำไรที่มากขึ้น จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างถนนอย่างรุนแรง”

ในเรื่องมาตรการการปราบปรามนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดต่อที่ประชุม ครม. 6 ตุลาคม 2564

โดยให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักในการ บูรณาการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ อาทิ การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างเป็นรูปธรรม

ให้มีการออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง

ผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ

รวมทั้งการเพิ่มมาตรการการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

โดย ครม.ได้รับทราบเรื่องนี้ จากนั้นมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วม

การดำเนินการของคณะกรรมการชุดนี้ได้ผลหรือไม่นั้น กรณีของส่วยสติ๊กเกอร์น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ดี

จากนี้คงต้องติดตามกันยาวๆ ว่าการออกมาเปิดโปงส่วยสติ๊กเกอร์ ท้ายที่สุดสาวไปถึงขบวนการได้ทั้งหมดหรือไม่ เพื่อล้างบางให้วงจรส่วยหมดไปเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image