ช้าๆ พร้าหัก

ช้าๆ พร้าหัก

ช้าๆ พร้าหัก

ครบ 1 เดือนหลังกาบัตรเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม ยังมีเวลาอีก 1 เดือนที่ กกต.จะต้องประกาศรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการหรือไม่เกิน 13 กรกฎาคม

แต่เชื่อว่า กกต.จะเร่งเร็วกว่านั้น ไม่น่าเกินมิถุนายนนี้ โดยต้องรับรองไม่น้อยกว่า 95% หรือ 475 คน เพื่อเปิดประชุมสภา เลือกประธานสภา แล้วเปิดประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ จะนำร่องจับมืออีก 7 พรรครวมได้ 312 เสียง ต้องหามาเพิ่มให้ได้ 376 เสียง เพื่อโหวตเลือกนายกฯและตั้งรัฐบาลใหม่ต่อไป

Advertisement

แต่ทว่า เส้นทางที่จะพา “พิธา” เข้าทำเนียบและ ส.ส.ก้าวไกลไปสภา ไม่เพียงมี 3 ด่านหลักคอยสกัด ทั้ง กกต.-ส.ว.-ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตะปูเรือใบยังเกลื่อนถนนอีกด้วย

รถบรรทุกส้มอาจฝ่าไปถึงสภาได้ แต่เส้นทางไปทำเนียบรัฐบาล หนทางสุดวิบาก อาจคว่ำกลางทาง

นั่นหมายความว่าการมีนายกฯและตั้งรัฐบาลชุดใหม่ต้องยืดเยื้อออกไป อีกทั้งอาจเป็นชนวนให้ด้อมส้มแห่ลงถนน

Advertisement

เป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายกังวล โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ตุ๊มๆ ต้อมๆ ว่าการเมืองจะเดินต่ออย่างไร

การเมืองยังไม่นิ่ง แต่เศรษฐกิจกลับนิ่งสงบ อยู่ในภาวะ “เวต แอนด์ ซี”

ความอึมครึม เป็นสถานการณ์ที่ภาคธุรกิจไม่อยากเจอ เพราะคาดเดายาก ส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ

จึงมีเสียงของเอกชนภาคส่วนต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว และควรมีเสถียรภาพ ที่สำคัญต้องไม่มีเหตุวุ่นวายตามมา

หากตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปจากไทม์ไลน์ในเดือนสิงหาคม จะทำให้งบประมาณปี 2567 ที่ตามปฏิทินปีงบประมาณจะเริ่ม 1 ตุลาคม 2566 จะประกาศใช้ไม่ทัน

แม้จะมีช่องเปิดให้ใช้เงินตามกรอบปีงบประมาณเดิมไปพลางก่อน แต่ก็แค่งบรายจ่ายประจำ ส่วนงบการลงทุน หรืองบกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังไม่อาจเบิกจ่ายได้

นอกจากนี้ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ คงต้องรื้อการจัดทำงบประมาณ เพราะไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล หากรื้อบางส่วนคงไม่เท่าไร แต่ถ้ารื้อไส้ในทั้งหมด จะยิ่งใช้เวลานานขึ้นไปอีก กว่าจะปรับแต่งงบให้ลงตัว กว่าจะเข้าสภา ต้องใช้เวลาไม่น้อย

นั่นเท่ากับว่า เวลาที่ทอดออกไปจะไม่มีงบประมาณจากภาครัฐมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ยิ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยซึมๆ เพราะการส่งออกติดลบ ส่วนการลงทุนทั้งในและต่างชาติ ก็รอดูความชัดเจนของรัฐบาลและนโยบายชุดใหม่

โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเอายังไงแน่ เพราะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในภาพรวม หากขึ้นค่าแรงจะทำเงินเฟ้อสูงขึ้น ทางนโยบายการเงินอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดไม่ให้เงินเฟ้อสูงเกินไป

ในภาพย่อยแต่ละธุรกิจกระทบมากหรือน้อย แล้วแต่ว่าใช้แรงงานคนมากน้อยแค่ไหน มีทักษะหรือไร้ฝีมือ

นอกจากนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่จะขยับแค่คนงานใหม่ หรือคนที่ค่าแรงเดิมไม่ถึง แต่เมื่อขึ้นค่าแรงแล้ว คนเก่าก็ต้องขยับหนีไปด้วย หากคนทำงานมานาน แต่ได้เงินเท่ากับคนใหม่ ก็จะวุ่นวายได้

เป็นอีกนโยบายที่เอกชนรอความชัดเจน เพื่อปรับตัวรับมือ หากกระทบมากรับภาระไม่ไหว อาจต้องลดคนงาน หรือเผ่นไปลงทุนที่อื่น

ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเสาหลักพยุงเศรษฐกิจขณะนี้ ก็อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น นักท่องเที่ยวต่างชาติน้อย ส่วนคนไทยก็เที่ยวลดลง เพราะเงินในกระเป๋าแฟบ อีกทั้งไม่มีโปรมาช่วยกระตุ้นจูงใจให้ไปเที่ยว

ดังนั้น สำนวนไทยที่ว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” ใช้ไม่ได้กับภาวะการเมือง-เศรษฐกิจไทยตอนนี้ เพราะหากยิ่งช้า พร้าจะหักเอาได้ ยิ่งถ้ามีความวุ่นวายรุนแรง อาจถึงขั้น “เรือหาย”

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image