เดินหน้าชน : อีเอสจี-โรงงาน

เดินหน้าชน : อีเอสจี-โรงงาน

“อีเอสจี” (Environment, Social and Governance : ESG) สำหรับประชาชนคนทั่วไปอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่สำคัญมากกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะต้องตระหนักและรับผิดชอบ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล เพราะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือ มิได้หวังแต่ผลกำไรอย่างเดียว

อีกทั้งเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับนักลงทุนทั่วโลกจะใช้ประกอบการพิจารณาในการลงทุนในธุรกิจต่างๆ

ที่ผ่านมาหลายธุรกิจของไทยให้ความสำคัญกับ “อีเอสจี” มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็ช่วยกระตุ้น หนุนให้ภาคเอกชนเดินไปสู่เทรนด์โลกธุรกิจยุคใหม่ดังกล่าว

Advertisement

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นอกจากจะเป็นผู้จัดหาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีพันธกิจส่งเสริมให้โรงงานต่างๆ ในนิคมฯ ดำเนินการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

เมื่อปี 2565 มีโครงการพัฒนาเกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำมาตรฐานสากลมาพัฒนาให้เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อยกระดับผู้ประกอบการพัฒนาธุรกิจสร้างคุณค่าร่วมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

แต่ก่อนหน้านั้น มีกิจกรรมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยมอบธงขาว-ดาวเขียว ให้โรงงานที่ผ่านเกณฑ์ และธงขาว-ดาวทอง ให้แก่โรงงานที่รักษาให้อยู่ในเกณฑ์ยอดเยี่ยมหลายปีติดต่อกัน

Advertisement

เป็นการส่งเสริมให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม

“วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ กนอ. ให้ข้อมูลว่า พิธีมอบธงขาว-ดาวเขียว มีตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ทั้งนิคมฯมาบตาพุด นิคมฯดับบลิวเอชเอตะวันออก นิคมฯผาแดง นิคมฯเอเชีย นิคมฯอาร์ไอแอล และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เข้าร่วมโครงการ 100% ทุกปี

ส่วนคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนลดและขจัดมลพิษ และคณะทำงานตรวจประเมินโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้ง กนอ. ผู้ประกอบการ หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มประมงเรือเล็ก

สำหรับเกณฑ์ประเมิน อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการด้านขยะ/กากของเสีย การจัดการระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ การจัดการ ไอระเหยสารเคมีและสารอินทรีย์ระเหยง่าย การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของสภาพพื้นที่การทำงาน การบริหารจัดการด้านลดอุบัติเหตุ/อุบัติภัย การจัดให้มีพื้นที่สีเขียว การจราจรขนส่งวัตถุดิบ/ผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ ในปี 2565 มีโรงงานเข้าร่วมโครงการ 136 แห่ง ผ่านเกณฑ์ได้รับธงขาว-ดาวเขียว 126 โรงงาน เป็นโรงงานในนิคมฯมาบตาพุด 51 แห่ง นิคมฯดับบลิวเอชเอตะวันออก 40 แห่ง นิคมฯผาแดง 2 แห่ง นิคมฯเอเชีย 15 แห่ง นิคมฯอาร์ไอแอล 5 แห่ง และในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 13 แห่ง

นอกจากนี้ มีโรงงานที่รักษามาตรฐานในเกณฑ์ดีเยี่ยมต่อเนื่อง 6 ปี จากปี 2559-2565 ได้รับธงขาว-ดาวทอง 81 แห่ง โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนค่าบริการอนุญาตใช้ที่ดินและประกอบกิจการ 50%

โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยนี้ ขยายผลไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2552 โดยพบว่า 456 ชุมชน รอบนิคมอุตสาหกรรมให้การยอมรับ เชื่อมั่น และมีทัศนคติที่ดีต่อโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ

เป็นการส่งเสริมโรงงานต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้อยู่กับชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน ตามเทรนด์ “อีเอสจี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image