เดินหน้าชน : อย่าเบี้ยวมติ รธน.

เดินหน้าชน : อย่าเบี้ยวมติ รธน. อดสังหรณ์ใจไม่ได้ว่า ภายใต้รัฐบาลผสม

อดสังหรณ์ใจไม่ได้ว่า ภายใต้รัฐบาลผสมสลายขั้วที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำและนายกรัฐมนตรีชื่อเศรษฐา ทวีสิน อาจไม่จัดให้ลงประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
เพราะการแถลงข่าวของแกนนำ 11 พรรคการเมือง 314 เสียง นำโดยพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ก่อนประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกเศรษฐาเพียง 1 วัน
คำแถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาลระบุว่า ทุกพรรคบรรลุข้อตกลงร่วมกันจะนำนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ อาทิ
“จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น”
มัน “ทะแม่ง-ทะแม่ง” ยังไงชอบกล?!

ในเมื่อพรรคเพื่อไทยยืนกระต่ายขาเดียวมาตลอดตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อเลือกตั้งผ่านพ้นไป
พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคก้าวไกลซึ่งได้เสียงมากที่สุดกับอีก 6 พรรค รวม ส.ส. 312 เสียง
ผู้นำพรรคแถลงข่าวและอ่านข้อตกลงร่วม (MOU) จัดตั้งรัฐบาล 23 ข้อ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม
ข้อที่ 1 ระบุว่า ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
จะเห็นว่ามันแตกต่างกัน ระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ซึ่งไม่มีรายละเอียดว่าจะแก้อย่างไร มาตราไหน?

ย้อนหลังกลับไปวันที่ 7 สิงหาคม ภายหลังแกนนำพรรคเพื่อไทยปิดห้องคุยกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ได้แถลงการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย รวม 5 ข้อ
ข้อ 2 ระบุว่า “จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการประชุมคณะรัฐมนตรีวาระแรกจะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยกระบวนการจัดตั้ง ส.ส.ร.”
หากการลงประชามติถามความเห็นประชาชนว่าจะเห็นชอบให้ ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบัน ต้องยกเลิกไป ตามการแถลงร่วมของ 11 พรรคเมื่อ 21 สิงหาคม ก็เป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก
ถ้าพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยจะฉีกข้อตกลง!?
จะกลายเป็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่รักษาสัจวาจาอีกครั้ง

แผลแรกที่เคยถูกกระหน่ำนำมาซึ่งการถูกโจมตีอย่างรุนแรงเรื่อง “มีลุง-ไม่มีเรา” ก็จะโดนซ้ำเข้าไปเป็นแผลที่สอง กรณีไม่จัดให้มีการออกเสียงประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ดูๆ ไปแล้วพรรคเพื่อไทยคงไม่สนุกแน่สำหรับช่วงแรกๆ ของการเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้ว
เพราะต้องสาละวนหาเหตุผลมาแก้ตัวกับองค์กรภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติจัดทำประชามติวาระแรกของการประชุม
ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลและพรรคไทยสร้างไทยในฐานะฝ่ายค้านก็จะกดดันรัฐบาล “เพื่อไทย-เศรษฐา” ซ้ำเข้าไปอีก

Advertisement

การสลายขั้วการเมืองตั้งรัฐบาลปรองดองไม่เพียงแต่เลิกตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงการใช้อำนาจในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ผสมเข้ากับการทะนุถนอมรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ
โอกาสจะเกิดการขัดแย้งและนำไปสู่วิกฤตการณ์ก็เป็นไปได้สูง
พรรคเพื่อไทยต้องคิดให้ถี่ถ้วน การผิดคำพูดอยู่เรื่อยๆ อาจทำให้ประชาชนหมดความ “เชื่อถือ” และ “ไว้วางใจ”!?!

เทวินทร์ นาคปานเสือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image