เดินหน้าชน : แฮตทริก‘รัฐประหาร’?

เดินหน้าชน : แฮตทริก‘รัฐประหาร’?

ผมค่อนข้างจับจ้องนโยบายด้านการทหารของรัฐบาลชุดนี้ เหตุเพราะนายกรัฐมนตรีที่มีดีเอ็นเอจากไทยรักไทยและเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เคยถูกกองทัพใช้กำลังรัฐประหารมาแล้วถึง 2 ครั้ง

ดังนั้นเมื่อมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง คำว่า “รัฐประหาร” มันย่อมคาบเกี่ยวกันระหว่าง “ความกลัว” กับ “ความกล้า”

รัฐบาลชุดนี้หันมาใช้บริการของ “สุทิน คลังแสง” ส.ส.หลายสมัย ในฐานะพลเรือนเข้ามานั่งเป็นเจ้ากระทรวงกลาโหม ย่อมเป็นที่จับจ้องมากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ

Advertisement

หลายคนตั้งคำถามและสงสัยว่า ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยจะมีรัฐประหารหนที่ 3 หรือจะทำแฮตทริกหรือไม่

ข้อมูลคร่าวๆ นโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับกองทัพ พบว่า ใช้คำว่า “ร่วมกัน” แทนคำว่า “ปฏิรูป” โดยระบุว่า รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ 1.จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ 2.ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารให้เป็นแบบสร้างสรรค์ 3.ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูงและกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของประเทศ 4.ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ สอดคล้องกับรูปแบบและความเสี่ยงของภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต และ 5.นำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะการใช้เพื่อการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

ผมได้อ่านคำสัมภาษณ์ของ “บิ๊กทิน” ที่เผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ ระบุว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยคือทำเพื่อกองทัพและประชาชน เราเข้ามาก็เพื่อ “ปฏิรูปกองทัพ” ให้ดีขึ้น แต่นายกรัฐมนตรีใช้คำว่า “ร่วมกันพัฒนากองทัพ” ไม่ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยมองกองทัพแบบอคติ แต่คนที่มองคือสังคม ที่เรียกร้องว่าต้องปฏิรูปกองทัพ โดยปฏิรูปกำลังพลในการลดกระชับกำลังพล ต้องยอมรับว่ากองทัพก็ดำเนินการอยู่ ดังนั้นเราต้องสนับสนุนกองทัพทั้งเรื่องกฎหมายและงบประมาณ แล้วเมื่อจำนวนนายพลลดลงก็ต้องทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ทั้งทางยุทธการและด้านบริหาร เพื่อมุ่งสู่กองทัพไซเบอร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจัดตั้งกองทัพขึ้นมาใหม่ แต่จะต้องเติมโครงสร้างของแต่ละกองทัพเพิ่มขึ้น

Advertisement

คนมักไปใช้คำว่าปฏิรูปในทำนองว่าไปรุกไล่กองทัพและจะทำให้เกิดขวัญและกำลังใจไม่ดีกับกองทัพด้วย ดังนั้นผมจะใช้วิธีการบริหารงานแบบ “ปรับปรนและปรับเปลี่ยน” ร่วมกันพัฒนากองทัพ ซึ่งจะค่อยเป็นค่อยไป เป็นไปตามสถานการณ์ความเป็นจริงและบริบทของสังคม

แนวคิดในการเกณฑ์ทหาร สิ่งที่คิดไว้คือ 2 ปรับ สิ่งแรกคือ ปรับสวัสดิการ และต่อมาคือปรับทัศนคติ การปรับสวัสดิการไม่ใช่ขึ้นเงินเดือนอย่างเดียว แต่ปรับค่ารักษาพยาบาล และปรับแนวทางการเรียนต่อ หรือทำงานต่อ ส่วนการปรับทัศนคติที่เป็นผลลบในการสมัครทหารเกณฑ์ โดยเฉพาะไม่ให้ราคาพลทหารเกณฑ์ ซึ่งเราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติให้คุณค่าและยกย่องเหมือนกับต่างประเทศ ส่วนการฝึกทหารโหดและทารุณ จะต้องทำให้ทุกคนหมดความเชื่อนี้ให้ได้ โดยมุ่งให้ระบบการซ้อมมีมาตรฐานไม่ทารุณโหดร้ายเหมือนในอดีต หากทำทั้งหมดนี้ได้จะมีคนมาสมัครทหารเยอะเกินอัตรารับและปีนี้จะเห็นการเกณฑ์ทหารน้อยลง

วันนี้หลายคนตั้งคำถามว่าพรรคเพื่อไทยในยุคปี’66 ใช้โทนนุ่มนวลกับกองทัพเหมือนเข็ดขยาด หรือเพราะมี “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวประกัน ซึ่ง “บิ๊กทิน” มองว่า ไม่เกี่ยวกัน ไม่เกี่ยวทักษิณ การลดโทนอาจจะเป็นเพราะบุคลิกของรัฐมนตรีกลาโหม ในเมื่อสไตล์ผมก็เป็นแบบนี้ แล้วผมคิดว่ามันได้ผลด้วย ดีกว่าโหดเหี้ยมเสียอีก

ส่วนทัศนคติปมรัฐประหาร “สุทิน” มองว่า เรื่องการเช็กบิลกับคณะรัฐประหารปี’57 เป็นคนละเรื่องกัน ใครทำผิดอะไรก็ให้ว่ากันไปตามกระบวนการ ยอมรับว่าความรู้สึกที่พรรคเพื่อไทยโดนรัฐประหารถึง 2 ครั้งไม่ได้หายไปจากใจในทันที แต่มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมาจองเวรกัน ถ้าจองเวรกันแล้วบ้านเมืองและประชาชนจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้

วันนี้คงต้องจับตารัฐบาลปรองดอง-ข้ามขั้วจะบริหารประเทศให้เป็นคีย์เดียวกันกับกองทัพหรือไม่

หวังว่าคงหลุดพ้นเงื่อนไขรัฐประหาร และไม่ทำแฮตทริกในยุคสมัยนี้…

พันธศักดิ์ รักพงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image