เดินหน้าชน : ‘พายุหมุน’หรือ‘ไต้ฝุ่น’

เดินหน้าชน : ‘พายุหมุน’หรือ‘ไต้ฝุ่น’

นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เกิดการถกเถียงกันหนักมากทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน และ ส.ว. ในการประชุมร่วมกัน ยังไม่นับความคิดเห็นของนักการเงิน นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ข้างนอก หลายคนที่คัดค้าน หรือเป็นคนละมุมมองไม่ได้กลัวว่าจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ แต่หวั่นและเกิดข้อกังวลว่า หากเมื่อทำได้จริงแล้ว แล้วสะดุดขึ้นมา จะส่งผลต่อฐานะการเงินของประเทศแค่ไหน หวั่นว่าเมื่อล้มเหลวแล้ว ประเทศจะลุกขึ้นมายากกว่าเดิม

ควรต้องฟังความเห็นรอบข้างมากกว่านี้หรือไม่อย่างไร

จนถึงวินาทีนี้ พรรคเพื่อไทยและคนในพรรคพยายามทำให้เห็นภาพอยู่ตรงหน้าว่า เมื่อกดปุ่มจ่ายผ่านระบบบล็อกเชน งวดเดียว 1 หมื่นบาทดิจิทัล มีเวลาให้จับจ่ายอย่างเดียวถึง 6 เดือน จะเกิด “พายุหมุน” ทางเศรษฐกิจ กระตุ้นทั้งการบริโภคและการลงทุนทั่วประเทศ รัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนผ่านรูปแบบของภาษี

Advertisement

ขณะที่ “ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พูดได้ดี มีเหตุผล ผ่านที่ประชุมรัฐสภา มองให้เห็นภาพเหมือนเช่นกันว่า นำเงินมาแจกแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด หวั่นจะเป็น “พายุไต้ฝุ่น” สร้างภาระหนี้ต่อลูกหลานในอนาคต จึงมองว่าเป็นแค่เทคนิคในการหาเสียงเท่านั้น คนที่เสียประโยชน์คือประชาชน โดย ส.ส.ก้าวไกล ท่านนี้ ก็มิได้เห็นแย้งต่อนโยบายนี้เสียทีเดียว พูดภาพรวมให้เห็นว่า ช่วงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังขยายตัวเวลานี้ไม่ควรมากระตุ้นด้วยนโยบายนี้ น่าจะเอาไปใช้ช่วงภาคเอกชนหดตัว

ฝั่งของ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.การคลัง ก็ยืนยันอย่างมีเหตุและผล ถึงแหล่งที่มาของงบประมาณทำนโยบายนี้ว่า ไม่เคยคิดหรือแม้แต่จะไปแตะเอาสมบัติของชาติ ทั้งกองทุนวายุภักษ์ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองระหว่างประเทศ กองทุนประกันตน มาใช้ ยังเคร่งครัดระเบียบวินัยการคลัง

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนสงสัยตั้งแต่แรกว่าเงินดิจิทัล 1 หมื่น เป็นบิ๊กนโยบายของพรรคเพื่อไทย ปักธงตั้งแต่หาเสียง จะเป็นทีเด็ดช่วยก่อให้เกิดแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน ชนะเลือกตั้งเพื่อมุ่งตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่เมื่อผลเลือกตั้งออกมา ให้ดูเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งเห็นด้วยแค่ไหน

Advertisement

ขณะที่เรื่องจริงผ่านจอวันนี้ พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลผสม 11 พรรค แล้วก็เพิ่งผ่านการแจกแจงนโยบายรัฐบาลเมื่อ 11-12 ก.ย. นายกฯก็ยังไม่บอกให้สะเด็ดน้ำ หรือเกิดความชัดเจนเป็นกันเองว่าจะเอางบประมาณมาจากไหน

แต่จะมัวมาติติงรัฐบาลอยู่ฝั่งเดียวก็ไม่ได้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลที่ตั้งไข่มาได้ไม่ถึงเดือน เข้าใจแหละว่ามีความตั้งใจดี อยากจะแก้ปัญหาทางออกให้พี่น้องประชาชนในยามที่ประสบปัญหาเรื่องหนี้สินในครัวเรือนที่ล้นถึงหลังคาบ้าน โดยเฉพาะ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตซีอีโอใหญ่ของแสนสิริ เคยขับเคลื่อนกิจการอสังหาริมทรัพย์มูลค่านับแสนล้านสู่ความมั่งคั่งมาแล้ว ก็น่าจะมีแผน ไอเดีย และทางออก

เพียงแต่ทุกคนยังเดาไม่ออกตรงที่ต้องถามซ้ำซากว่า ถ้าไม่กู้จะไปเอาเงินมาจากไหนในโครงการนี้

การที่จุลพันธ์บอกว่าเมื่อถึงเวลาพร้อมชี้แจงแหล่งที่มาของงบประมาณ กระบวนการที่รัฐบาลดำเนินการจะชัดเจน โดยขอเวลาตรวจสอบรายละเอียดและเดินหน้าโครงการ ให้คำมั่นว่า สุดท้ายแล้วจะต้องมีความชัดเจน ทั้งกรอบงบประมาณ และระยะเวลาดำเนินการ รวมถึงกระบวนการนำงบประมาณมาใช้คืนให้หมดในระยะเวลาที่กำหนด โดยจะไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะแน่นอน ไม่เป็นการกู้เงินเพิ่ม

การที่รัฐมนตรีช่วยคลังบอกว่าไม่กู้เงินเพิ่ม ต้องกลับมาที่คำถามแรกอีกทีว่า จะหาแหล่งเงินจากไหนโดยไม่กู้เงินเพิ่ม และไม่แหกกฎวินัยการคลัง

ถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของรัฐบาล ประเทศคล้ายเป็นตัวประกันกลายๆ คงไม่มีใครอยากเห็น หรือแช่งให้ทำไม่สำเร็จ เพราะจะเจ็บตัวกันทั้งประเทศ แต่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยลองฟังเสียงเตือนบ้างก็น่าจะดีและเป็นคุณมากกว่าโทษ อย่ามองเห็นความตั้งใจดีของฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างอื่น เก็บเอาไปวิเคราะห์ให้มากจะดีกว่าหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image