เดินหน้าชน : ยุคสมัยพลังงาน

เดินหน้าชน : ยุคสมัยพลังงาน

เก็บตกจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯนำคณะไปโชว์เวทีโลกครั้งแรก พร้อมร่วมถ้อยแถลงถึงวาระร้อนในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนและภาวะโลกร้อน ที่มีปัจจัยหลักมาจากพลังงานฟอสซิล โดยยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งเน้นการผลิตพลังงานสะอาด

เป็นไปตามเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานชีวมวล ซึ่งประเทศไทยเดินหน้ามาสักระยะหนึ่งแล้ว

รวมถึงเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค (Tokamak) หรือ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” ที่ไทยเพิ่งเปิดทดลองอย่างเป็นทางการ เมื่อไม่นานมานี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันฟิสิกส์พลาสมา สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ของไทย

Advertisement

เครื่องโทคาแมคนี้ชื่อว่า Thailand Tokamak I หรือ TT-1 เป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่นเครื่องแรกของไทย เพื่อศึกษาวิจัยพลาสมาอุณหภูมิสูงในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและฟิวชั่น ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสําหรับผลิตไฟฟ้าในอนาคต และสามารถนําไปประยุกต์ใช้ด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และการแพทย์ด้วย

เป็นยุคใหม่ของพลังงานโลก ที่จะมาทดแทนฟอสซิล ในอนาคตอันใกล้นี้

ย้อนไปดู้เส้นประวัติศาสตร์ด้านพลังงานของไทย ในขณะนั้นส่วนใหญ่ยังพึ่งพาน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และถ่านหิน จากต่างประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตพลังงานโลก จึงได้รับผล กระทบค่อนข้างหนักหนาสาหัส

Advertisement

อย่างเมื่อปี 2521 ไทยเหลือน้ำมันสำรองสำหรับผลิตไฟฟ้าเพียง 2 วันเท่านั้น รัฐบาลจึงตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันขาดแคลน และเพิ่มอำนาจต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ

จากนั้นไม่ทันไรก็เกิดวิกฤตน้ำมันโลกขาดแคลนในปี 2522 ปตท.จึงเร่งจัดหาน้ำมันให้เพียงพออย่างเร่งด่วน ทำให้ไทยผ่านวิกฤตมาได้ อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าเราพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ในระดับหนึ่ง

จากนั้น ปตท.มีหน้าที่หลักในการจัดหาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กระทั่ง ปี 2544 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ผ่านมา 45 ปี ปตท.ไม่เพียงมีบทบาทสำคัญในการดูแลเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ แต่ยังยกระดับพัฒนา และแตกแขนงไปยังสาขาอื่นๆ มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจที่ไปไกลกว่าพลังงาน

ด้วยเพราะ โลกจะทยอยเปลี่ยนผ่านจากฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ ชีวมวล และความร้อนใต้พิภพ รวมทั้งเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน

ปตท.มีบริษัทในเครือพร้อมรองรับ อย่างบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ดูแลพลังงานทดแทน บริษัท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ดูแลเรื่องการเก็บกักพลังงานทดแทนไว้ใต้ดิน หรือบริษัท น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ OR ดูแลธุรกิจค้าปลีกและยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)

อีกทั้ง มีภารกิจ ช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ NET ZERO ให้สำเร็จภายในปี 2050

อย่างไรก็ตาม ช่วงเปลี่ยนผ่านยุคสมัยพลังงานโลกนี้ ยังทำให้สถานการณ์ผันผวนอยู่ ล่าสุด รัสเซียประกาศห้ามส่งออกน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน โดยอ้างว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับสูงขึ้นอีก

เป็นปัญหาหน้างาน ที่รัฐบาล และ ปตท.ต้องหามาตรการรองรับไม่ให้เกิดแรงกระแทกกับประชาชนมากเกินไป

แต่ขณะเดียวกันแผนขับเคลื่อนพลังงานทดแทนยังต้องเดินต่อ เพื่อพร้อมรับกับเทรนด์พลังงานโลกยุคใหม่ ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานสะอาด

ดังนั้นยุคใหม่พลังงานโลก อาจเป็นยุคทองของไทยก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image