เดินหน้าชน : 50 ปี 14 ตุลา 16

เดินหน้าชน : 50 ปี 14 ตุลา 16

ตุลาคมปีนี้ มีความหมายทางประวัติศาสตร์การเมืองในแง่ของกาลเวลา

นับจาก 14 ตุลาคม 2516 มาถึงปัจจุบันครบ 50 ปี

แต่ถ้า 6 ตุลาคม 2519 ก็ครบ 47 ปี

Advertisement

เหตุการณ์แรก เป็นการลุกขึ้นมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน

แทนที่รัฐบาล “จอมพลถนอม กิตติขจร” จะตอบรับด้วยดี กลับปล่อยให้ตำรวจจับกุม ตั้งข้อหาร้ายแรง

การชุมนุมจึงเกิดขึ้น นำไปสู่เหตุการณ์จลาจล มีคนเจ็บ คนตาย

Advertisement

สุดท้าย “จอมพลถนอม” ได้ลาออกและเดินทางไปต่างประเทศพร้อมครอบครัว

ผู้ที่เสียสละชีวิตเพื่อแลกกับการได้มาซึ่ง “ประชาธิปไตย” ได้รับการยกย่องให้เป็น “วีรชน 14 ตุลา 16”

ต่อมามีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน

ใช้เป็นสถานที่จัดงานรำลึก วางหรีดไว้อาลัยให้แก่วีรชนทุกปี เมื่อวันที่ 14 ตุลา เวียนมาถึง

ส่วน 6 ตุลา 19 เป็นวันที่ประชาธิปไตยถูกพร่าผลาญกลับสู่เผด็จการ นักศึกษา ประชาชน ที่ชุมนุมขับไล่การ กลับเข้ามาของจอมพลถนอม ถูก “ล้อมปราบ” จากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธและ “มวลชนจัดตั้ง” อย่างโหดเหี้ยม ทั้งบริเวณด้านในและด้านนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ไม่น่าเชื่อว่า คนไทยต้องมาฆ่ากันเอง!?

บาดแผลทางประวัติศาสตร์เป็นที่กล่าวขานมาจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต

ในวาระครบ 50 ปี 14 ตุลา 16 นอกจากจะมีกิจกรรมหรือพิธีกรรมต่างๆ เพื่อรำลึกเหตุการณ์แล้ว

เรื่องหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจก็คือ ผู้ที่เข้าร่วมเหตุการณ์ได้รับ “บาดเจ็บ-พิการ” มาถึงทุกวันนี้

ซึ่งเรียกกันว่า วีรชน 14 ตุลา 16 รวมทั้งญาติวีรชน ซึ่งต้องสูญเสียคนในครอบครัว

พวกเขามีชีวิตอยู่กันอย่างไร ลำบาก เดือดร้อนกันหรือไม่?!

ทุกปีที่จัดงานรำลึก 14 ตุลา วีรชนและญาติวีรชนมางานด้วยจิตใจที่หดหู่ เฝ้ารอด้วยความหวังว่า “เงินเยียวยา-ช่วยเหลือ” ที่เคยได้รับสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

แต่ถูกรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีมติเมื่อปี 2558 ให้ “ตัดลด-ยกเลิก” จะได้รับการพิจารณาคืนสิทธิให้เหมือนเดิม

ว่าไปแล้ว ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ ถูกบันทึกไว้ด้วยเลือดเนื้อ ชีวิต และคราบน้ำตาของวีรชนและญาติวีรชนไม่รู้กี่ครั้งกี่ครา

แลกมาด้วยการสูญเสียอิสรภาพ ซึ่งไม่ได้มีแค่เหตุการณ์ 14 ตุลา 16

เหยื่อแห่งความรุนแรงจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สมควรจะได้รับการดูแลช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมโดยถ้วนหน้าจากรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ที่มาจากการเลือกตั้ง

ถ้าเป็นรัฐบาล “เผด็จการ” ที่เข้ามามีอำนาจโดยการ “รัฐประหาร” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะคนเหล่านั้นย่อมมี “อคติ” การต่อสู้เรียกร้องของประชาชน

ไม่เข้าใจคุณค่าของประชาธิปไตยและการสูญเสียของวีรชน

มาร่วมรำลึก 50 ปี 14 ตุลา 16 อย่างมีสาระ แก่นสาร สร้างสรรค์ ให้มากไปกว่าแค่พิธีกรรมกันดีกว่า!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image