สกลธี ขอคะแนนชาวจตุจักร–บางเขน ยันเป็นผู้ว่าฯ กทม.นักประสานงาน ไม่ประสานงา

สกลธี ขอคะแนนชาวจตุจักร-บางเขน ยันเป็นผู้ว่าฯกทม. นักประสานงาน ไม่ประสานงา

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 3 ลงพื้นที่หาเสียงที่บริเวณตลาดนัดชุมชนรถไฟ กม.11 (ตลาดสายหยุด) และตลาดบางเขน เขตจตุจักร

ทั้งนี้ นายสกลธีกล่าวว่า วันนี้ลงพื้นที่เดิมที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และพื้นที่ตรงจุดชุมชนรถไฟ ซึ่งเป็นจุดที่เคยพูดถึงหลายครั้ง ใน “สกลธีโมเดล” เกี่ยวกับการนำมาปรับเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ แต่ติดที่ กทม.ไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เช่น บริเวณนี้เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เงินของ กทม.ไม่สามารถลงมาพัฒนาได้ เพราะจะสามารถใช้กับพื้นที่สาธารณะเท่านั้น ทั้งนี้ ได้พูดมาหลายครั้งว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯกทม. ก็จะต้องเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางพัฒนา

“ถึงแม้ กทม.จะลงเงินไม่ได้ แต่เป็นหน่วยงานที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน เพราะเวลามีปัญหา เขาไม่รู้ว่าจะร้องเรียนกับใคร ดังนั้น จะต้องคุยกันให้มากกว่านี้ ซึ่งในอนาคตถ้าทำได้ก็ควรจะมีการแก้ระเบียบ เพื่อให้ กทม.นำเงินมาพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะได้ จุดนี้ตั้งแต่สมัยผมเป็น ส.ส.เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เงินของ กทม.ลงมาไม่ได้ แต่เงินของการเคหะแห่งชาติลงมาได้ ดังนั้น ผมจึงอยากให้งบประมาณของ กทม. มีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ เพื่อนำไปพัฒนาในที่ต่างๆ อย่างของการเคหะฯ มีความยืดหยุ่น ตอนสมัยที่ผมเป็น ส.ส. ก็มีการประสานเพื่อให้เงินมาลงในพื้นที่เอกชน หรือที่หน่วยงานราชการอื่นได้ จะทำให้การแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ยืดหยุ่นรวดเร็วกว่า เพราะบางครั้งการรอเงินจากหน่วยงานต้นสังกัดก็อาจจะไม่ทันการณ์ ถ้า กทม.ทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมาเยอะ” นายสกลธีกล่าว

Advertisement

นายสกลธีกล่าวถึงแผนการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายว่า ช่วงนี้มีการดีเบตจำนวนมาก ถ้าได้รับเชิญ ตนก็จะไป เพราะขณะนี้มีหลายกลุ่มจัดดีเบตแยกกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องความเดือดร้อนของกลุ่มเฉพาะ เช่น การดีเบตของกลุ่มหาบเร่แผงลอย คนทำงานกลางคืน กลุ่มแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ ซึ่งตนก็อยากจะไป เพราะเป็นการสะท้อนปัญหาจากคนหลายกลุ่ม มีคำถามให้ได้ชี้แจงนโยบาย รวมถึงข้อเสนอต่างๆ ทำให้สามารถเก็บเป็นข้อมูล และได้พูดถึงสิ่งที่ตนอยากจะทำด้วย

“เช่น ในการดีเบตครั้งล่าสุด มีการพูดถึงเรื่องการเปิดพื้นที่การชุมนุมในกรุงเทพมหานคร ซึ่งผมก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยที่ควรให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้กฎหมาย อันไหนที่ถูกกฎหมายก็ยินดี ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯกทม. เห็นว่าพื้นที่หลายส่วนของ กทม. ควรนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่เพียงเฉพาะการชุมนุม แต่อาจจะใช้ในจุดประสงค์อื่นได้ด้วย เช่น สวนสาธารณะ ก็อาจจะไม่ได้มีไว้เพื่อการวิ่งอย่างเดียว จะจัดดนตรี หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่กระทบกับสิทธิของผู้อื่น ในกรณีที่ขอพื้นที่ในการชุมนุม ผมคิดว่า สำคัญอยู่ที่ กทม.จะต้องประสานงานกับภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ กทม.จะไปทำงานปะ ฉะ ดะ กับทุกหน่วยงานไม่ได้ เพราะ กทม.ไม่ได้มีอำนาจเต็มขนาดนั้น มันมีการทับซ้อนกันหลายหน่วยงาน ดังนั้น คุณสมบัติของผู้ว่าฯกทม. ต้องเป็นคนประสานงานที่ดี แต่ว่าอะไรที่เป็นสิทธิของคนกรุงเทพฯ หรือปัญหาของกรุงเทพฯ ก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด ซึ่งผมมั่นใจในเรื่องการประสานงาน เพราะสมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯกทม.ก็ประสานกันมาด้วยดีตลอด ลักษณะของผม คือ การประสานงานอยู่แล้ว ไม่ใช่ประสานงา” นายสกลธีกล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image