ต้องรู้สองภาษาสองวัฒนธรรม หรือมากกว่า จึงแปลงานล้ำค่าให้ค่าล้ำออกมาได้

ที่จริง งานแปลวรรณกรรมเมื่อย้อนกลับไปครึ่งศตวรรษก่อน แม้รู้ถึงสองภาษาก็ยังไม่นับว่า ทำงานออกมาดีหรือสมบูรณ์ได้ เนื่องจากรู้เพียงภาษาอังกฤษอันเป็นภาษากลาง กับภาษาไทยของตัวเอง ยังไม่พอ เพราะวรรณกรรมชั้นดีระดับโลกยุคก่อน ที่ถูกถ่ายทอดมาเป็นไทย เกิดจากนักเขียนหลายชาติ หลายภาษา ไม่ว่ารัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส โปรตุเกส กระทั่งญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น ที่มักถูกแปลเป็นอังกฤษจนแพร่หลายชั้นหนึ่งก่อน จากนั้นจึงถูกนำมาพากย์ไทย ยกเว้นอเมริกันอังกฤษ

กระนั้น อรรถรสเดิม กลิ่นอายเดิม จนแม้ความหมายเดิม จึงอาจอ่อนพร่องไปได้บ้าง เนื่องจากผ่านการแปลงมาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนจะแปลงต่อไปเป็นอีกภาษาอีกครั้ง

และถึงจะแปลงานวรรรณกรรมชั้นดีของอังกฤษ อเมริกัน มาเป็นไทยเพียงชั้นเดียวก็ตาม ก็ยังมีประเด็นที่คิดเหลื่อมกันอยู่ระหว่างการทำงานของผู้แปล กับความต้องการของนักอ่าน เช่น นิยายลั่นโลกของ อเล็กซ์ เฮลียู เมื่อปี 2519 เรื่องดังซึ่งต่อมากลายเป็นหนังชุดยอดนิยม รูทส์

รูทส์ (Roots) เป็นเรื่องของชาวอัฟริกันพื้นเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 18 คุนต้า คินเต้ ซึ่งถูกนักค้าทาสลักพาตัวร่วมกับคนอื่นๆ ไปขายกันอย่างเป็นที่ยอมรับ ต่อมาเหลนโหลนยุคปัจจุบัน จึงคิดกลับไปค้นหารากเหง้าตัวเอง

Advertisement

ระหว่างที่นักอ่านและนักแปลคุยถึงเรื่องนี้กันกาลเทศะหนึ่ง มีการยกตัวอย่าง การใช้ถ้อยคำของผู้เขียน บรรยายสภาพแออัดของทาสที่อยู่ในเรือขนส่ง ซึ่งต้นฉบับกล่าวว่า ยามนอนต้องเบียดตะแคงเรียงกัน เหมือนส้อมที่ถูกมัดรวมอยู่ในลิ้นชัก ซึ่งเห็นภาพชัดเจน

ส้อมหลายคันที่ถูกมัดวางไว้ในลิ้นชัก มักมัดเรียงตะแคงติดกันเป็นแถว ไม่ได้วางหงายซ้อนทับกัน แล้วมัด ซึ่งเมื่อวางแล้วจะสูงขึ้นมาตามความมากน้อยของส้อม หากสูงมากก็ล้มง่าย แต่ถึงมัดลักษณะนั้นก็ยังต้องวางตะแคงราบลงอยู่ดี

Advertisement

แต่นักแปลไม่ได้บรรยายตามต้นฉบับ คนหนึ่งบอกจะถ่ายทอดว่า “แน่นเหมือนปลากระป๋อง” อีกคนว่า “แน่นเหมือนยัดทะนาน” ซึ่งนักอ่านประเภทอ่านเอาเรื่อง ที่อยากรู้ว่าผู้เขียนเขียนอะไร จะไม่ได้ภาพตามต้นฉบับเลย แม้แปลมาแล้วความจะยังเข้าใจได้อยู่ก็ตาม ว่าบรรทุกมาแน่นมากเท่านั้น

ประเด็นที่คุยกันตอนนั้น มีว่า การแปลจากภาษาหนึ่งมา ต้องเป๊ะๆ ตามต้นฉบับไหม

เป็นเพียงประเด็นหนึ่งเรื่องงานแปล ที่แสดงว่า ผู้ผลิตกับผู้บริโภคเห็นไม่ตรงกัน

แต่ที่เป็นอีกประเด็นหลักของวงการนักอ่านนักแปลครึ่งศตวรรษก่อน ที่มักพูดถึงกันอยู่เสมอคือ นักอ่านจำนวนหนึ่งต้องการให้นักแปลใช้ภาษาหรือการถ่ายทอดความที่ลด “กลิ่นนมเนย” ลงบ้าง (กรณีที่ส่วนมากเป็นวรรณกรรมตะวันตก) ขณะที่นักอ่านอีกจำนวนต้องการให้แปลตามต้นฉบับจริงๆ

ซึ่งนักแปลเองก็มีอยู่สองประเภทเช่นกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยว่าควรแปลมาให้ได้กลิ่นรสเป็นไทยๆ ส่วนอีกประเภทเห็นว่า ต้องแปลให้ตรงตามต้นฉบับ

การเหลื่อมกันประเด็นนี้มีมายาวนาน เนื่องจากงานแปลส่วนมากช่วงนั้น ล้วนแปลจากภาษาอังกฤษ จึงมีความพยายามอยู่บ้าง ที่พยายามลดนมเนยลงให้ได้กลิ่นน้ำพริกปลาทู

ที่ยกมา เป็นเพียงสองประเด็นหลักๆ เมื่อคุยกันเรื่องงานแปลวรรณกรรม ยังไม่ไปถึงประเด็นอื่นๆ ซึ่งความจริงการมัดส้อมใส่ลิ้นชัก ก็เป็นพฤติกรรมที่กินแดนเข้าไปในวัฒนธรรมผู้ใช้มีดกับส้อมอยู่หน่อยๆแล้ว

ก็พอดีมีหนังสือน่าอ่านมาก แม้จะจัดเป็นตำราได้ แต่เป็นตำราซึ่งเหมาะกับนักแปล นักอ่าน และผู้สนใจเรียนรู้อย่างยิ่งคือ

ภาษา วัฒนธรรม กับการแปล : ไทย – อังกฤษ โดยอาจารย์ภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ เชียงใหม่ สุพรรณี ปิ่นมณี

เป็นหนังสือที่ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อกลางข้ามวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อนำไทยออกไปสากล พูดถึงวัฒนธรรมพื้นผิวกับวัฒนธรรมแฝงฝ้งในการแปล พูดถึงภาษากับการแปล ยังมีการแปลสำนวนไทย ที่อ่านสนุกน่ารู้ แปลราชาศัพท์ แปลคำเรียกขาน

ที่สนุกและน่ารู้มากๆ บทหนึ่งคือ จะแปลอย่างไร เมื่อเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมและศาสนา ที่เมื่ออ่านการแปลไทยไปเป็นอังกฤษแล้ว จะช่วยให้เข้าใจความยากง่าย ของงานแปลอังกฤษเป็นไทยที่ผ่านๆ มาด้วย

ยกตัวอย่างเห็นๆ กันดีกว่า จากบทที่ว่าด้วยวัฒนธรรมพื้นผิวกับวัฒนธรรมแฝงฝัง

“หากนวนิยายเขียนว่า < ฟ้ามืดมัวหม่นเมฆทะมึน มาทางทิศตะวันตก เธอปักตะไคร้กลับด้านลงดิน > เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษจะได้ความว่า < With black clouds in the dark sky down over the west side, she plant lemon grass upside down in the ground >

“ผู้อ่านบทแปลจะได้ข้อมูลเพียงว่า ฝนจะตก หญิงคนนี้ปลูกตะไคร้กลับด้านเอาปลายจิ้มดิน เท่านั้น แต่ผู้อ่านต้นฉบับไทยทราบข้อมูลอื่นที่ประกอบอยู่ในข้อความนี้ เช่น การจิ้มตะไคร้ปักปลายลงดิน แปลว่าจะมีการจัดงานกลางแจ้ง หญิงคนนี้เป็นหญิงพรหมจารี และการปักตระไคร้กลับด้าน โดยหญิงพรหมจารี เป็นความเชื่อว่า จะเป็นการบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์มิให้ฝนเทลงมาระหว่างการจัดงาน

“ดังนั้น ข้อความดังกล่าวจึงมีเนื้อหาว่า ฝนจะตก เธอปักตะไคร้ลงดิน แต่มีความหมายผนวกเพิ่มเติมเข้ามาอีกมากมายที่มิได้เขียนอธิบาย เพราะผู้เขียนกับผู้อ่านภาษาไทย อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน ย่อมเข้าใจกันเองอยู่แล้ว

“นั่นย่อมหมายความว่า ข้อความภาษาไทยกับข้อความแปลเป็นภาษาอังกฤษนั้น มีเนื้อหาเดียวกัน แต่มีความหมายไม่เท่ากัน ภาษาไทยมีความหมายเพิ่ม ผู้อ่านภาษาไทยมีข้อมูลสองชุด ชุดหนึ่งเป็นข้อความที่ปรากฏ ส่วนอีกชุดเป็นข้อมูลที่รับรู้กันอยู่เดิมในสังคมวัฒนธรรมไทย

“แต่ผู้อ่านภาษาอังกฤษปลายทางจะได้ข้อมูลเพียงชุดเดียว คือชุดแรกเท่านั้น และอาจเข้าใจผิดอีกด้วยว่า เธอผู้ปักตะไคร้ลงดินผู้นี้ไร้ประสบการณ์ ปลูกต้นไม้ไม่เป็น จึงทำผิดๆ ถูกๆ

“ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะแปลให้ได้ผลดีที่สุด สามารถส่งผ่านข้อมูลชุดที่สองที่แฝงฝังอยู่ได้…”

ไม่ได้เป็นงานง่ายเลย ใช่ไหม

การแปลไทยเป็นอังกฤษเล่มนี้ อาจเรียกเสียงหัวเราะอย่างเพลิดเพลินขึ้นได้ด้วยซ้ำ เมื่อแปลถ้อยคำ สำนวนต่างๆ สมองหมาปัญญาควาย, ไข่แม้ว, ไดโนเสาร์เต่าล้านปี, เหมือนปลากระดี่ได้น้ำ ฯลฯ หรือแปล ผีหลอกแลบลิ้นปลิ้นตา, หมู 2 หัว 6 ขาให้โชค ฯลฯ ยังมี ตายแล้วไปไหน, ขออโหสิกรรม หรือ ปล่อยชีวิตเป็นไปตามยถากรรม

หรือการแทนที่ด้วยภาษาวัฒนธรรมปลายทาง ซึ่งอาจะถกเถียงกันต่อได้อีก

นอกเหนือการแปลคำต่อคำ ตัดคำหรือละทิ้งข้อความ ใช้คำเทียบเท่าแบบไม่แปลหรือทับศัพท์

หนังสือเล่มนี้ จึงเหมาะแก่ผู้ใฝ่รู้ ไม่เพียงนักเรียนนักศึกษาในยุคที่ต้องรู้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่สอง เหมาะแก่ยุคซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเต็มเมือง ที่จะได้เป็นกำลังหนึ่งซึ่งจะสื่อสาร เกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมนานาลักษณะของเราให้เขาเข้าใจได้

ที่จริงหากจะบอกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามก็ไม่น่าใช่ เพราะเป็นเรื่องสมควรใส่บ่าแบกหามจริงๆ

น่าจะหาเรียนกัน.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image