ตู้หนังสือ : พลเมืองซึ่งไม่มีสิทธิ คือสิ่งมีชีวิตที่รัฐบาลเลี้ยงไว้ โดย บรรณาลักษณ์

ปีใหม่ผ่านไปอีกปี ความทุกข์ยากลำบากไม่มีอะไรแตกต่างจากปีที่แล้ว หรือปีก่อนหน้า เว้นแต่ทุกข์มากขึ้น ยากมากขึ้น และลำบากมากขึ้น จากเชื้อระบาดกลายพันธุ์ที่ไม่ยอมให้มนุษย์ได้ผ่อนคลายแม้ชั่วขณะ จากคนที่เคี่ยวเข็ญคนด้วยกัน เพราะอยู่ในฐานะใช้อำนาจบังคับ ได้แต่โปรยข้าวเปลือกให้จิกกินอยู่ในเล้า ไม่สามารถแม้แต่จะบริหารการเปิดรั้วให้ออกไปกระพือปีกวิ่งขึ้นเกาะขอน ได้โก่งคอขันระบายอารมณ์บ้าง

ไฉนไม่เหมือนเราๆ ท่านๆ หากสมมุติว่าตกอยู่ในสภาพสังคมซึ่งไม่มีสิทธิมีเสียง เผชิญหน้ากับปัญหาสาหัส ต้องหันหน้าเข้าหากันช่วยเหลือตัวเอง ได้รับเพียงข้าวเปลือกที่หว่านโปรยตามเวลา เจ็บป่วยก็ถูกยัดยาเข้าปาก ถามว่ายาอะไรมาจากไหน ทำไมผู้ผลิตยายังไม่ใช้แล้วเอามาใช้กับเรา ก็ไม่มีคำตอบให้กระจ่าง ครั้นแต่จะคุ้ยเขี่ยหากินก็ไม่มีวิธีคลี่คลายให้เหมาะสมทั่วกัน ราวกับเห็นว่าจะบีบก็ตายจะคลายก็รอด เงียบๆ ไว้เหอะ-อย่างไรก็อย่างนั้น

เช่นนี้ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตที่ถูกเลี้ยงไว้หรือ จะเป็นพลเมืองซึ่งกติกาตราไว้ว่ามีสิทธิมีเสียงได้อย่างไร ไม่ว่าจะเรียกคณาธิปไตย อำมาตยาธิปไตย ตุลาการธิปไตย แพทยาธิปไตย หรืออาวุธยุทธโยธาธิปไตย
ก็ตาม-ก็ครือๆ กันหมด

ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็แล้วกัน

Advertisement

• อ่านหนังสือหล่อเลี้ยงอารมณ์ บำรุงสติปัญญาท่าจะดี วันนี้โลกแคบลงเรื่อยๆ นอกจากจะเข้าใจตัวเองให้ถ่องแท้แล้ว การเข้าใจเพื่อนบ้านด้วยย่อมดีที่สุด เพราะวันข้างหน้า มีแต่จะจับมือกันดูแลภูมิภาคถ่วงดุลกำลังอำนาจอื่นๆ ไม่ว่าการเมืองหรือเศรษฐกิจที่ต่างรุกเข้าหาทรัพยากรระหว่างกัน จะได้เห็นทางหนีทีไล่

พลิกแผ่นดิน : จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพถาวรของกลุ่มประเทศในเอเชีย โดย ภาณุดา วงศ์พรหม อ่านแบบสรุปรวบยอด ก็จะได้เห็นภาพเพื่อนร่วมภูมิภาคร่วมทวีป ที่ทั้งเคยตกในชะตากรรมเดียวกัน ทั้งเคยเป็นคู่ต่อกรกัน แต่บัดนี้ โลกสมัยใหม่ซึ่งมีมหาอำนาจตะวันตกตะวันออกคุมเชิงกัน ยังมีมหาอำนาจเศรษฐกิจควบคุมเงินคอยจัดระเบียบผลประโยชน์โลกอยู่เบื้องหลัง จะมามัวทะเลาะกันเองด้วยผลประโยชน์ร่วมกันที่สามารถจัดแจงได้แต่ไม่จัดแจง จะน่าเสียดาย เพราะนั่นคือช่องโหว่รอยแหว่งให้ฝ่ายมีกำลังอำนาจมากกว่า เข้าแทรกแซงได้ง่ายดาย

อ่านการปลดแอกอาณานิคมอันยากเย็น เพื่อเป็นอิสระ และสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นได้เช่นปัจจุบันของ จีน, อินเดีย, เกาหลี, เมียนมา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, ฟิลิปปินส์ อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อตระหนักถึงการร่วมแรงแข็งขันกันสู่อนาคต มิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเพราะเห็นสั้นไม่เห็นยาว

Advertisement

• ยังมีคำถามหาถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งแปลจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ ไชยันต์ รัชชกูล จึงนำมาเสนออีกครั้งหลังจากเคยเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนเรื่อง อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก ซึ่งแปลให้อ่านเข้าใจโดย พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ ชวนตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรียกว่ารัฐไทย หรือสยามประเทศในศตวรรษที่ 19 คืออะไร ซึ่งแม้หนังสือจะมีอายุกว่าสองทศวรรษ แต่ข้อมูล และการตีความข้อมูล การตั้งคำถาม กับความพยายามตอบคำถามเกี่ยวกับการก่อรูปรัฐไทย การกำเนิดและการจบสิ้นลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเวลาไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ ยังคงเป็นเรื่องน่าสนใจของประวัติศาสตร์การก่อรูปรัฐไทยที่เป็นปัญหาความคิดในสังคมอยู่จนวันนี้

ที่สำคัญ นอกจากหนังสือเล่มนี้จะเป็นเครื่องนำทางชั้นดีในการเข้าใจอดีตแล้ว ยังช่วยผู้อ่านให้มีทรรศนะเที่ยงตรงขึ้น และมองพัฒนาการของรัฐไทยในแบบที่เป็นไป ไม่ใช่แบบที่ทางการต้องการให้เป็น-หือ, ไม่อ่านไม่ได้แล้วสิ

อ่านเพียง 272 หน้ากับ 7 บท สยามกลางศตวรรษที่ 19, การเปลี่ยนรูปทางการเมืองสยาม, การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและการก่อรูปชนชั้นต้นศตวรรษที่ 20, การก่อรูปรัฐในสยาม การก่อรูปรัฐในระบบทุนนิยมรอบนอก, รัฐในระบบทุนนิยมรอบนอก ลักษณะเชิงวิเคราะห์และวิถีการทำงานในสยาม, กำเนิดชาตินิยมไทย, บทสรุป

เท่านี้ก็จะ “ตาสว่าง” เหมือนที่ผู้เขียนได้เขียน ตาสว่าง กับรัชกาลที่ 4 ให้อ่านแล้วอีกเล่ม นอกจากนี้ ยังมีคำนำเสนอโดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้เห็นภาพเหล่านั้นชัดขึ้นอีกด้วย

• และในหลายๆ ครั้ง การจะเข้าใจปัญหา หรือสถานการณ์ปัจจุบันของเรื่องราวใดๆ อาจจำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึงเรื่องราวก่อนหน้า เพื่อความเข้าใจ จะช่วยให้เห็นภาพและตระหนักทิศทางของปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

จีนซึ่งขณะนี้ กำลังพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประจันหน้ากับสหรัฐอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ โดยมีรัสเซียคอยคุมเชิงอยู่ไม่ห่าง ขณะเดียวกับที่ไต้หวันก็นำตัวเป็นประเด็นขวางขึ้นมา ทำให้มีตัวจุดชนวนบาดหมางหรือเค้าความรุนแรงเพิ่มขึ้น การใช้เวลาไม่นานหันกลับไปอ่านหนังสือเล่มโตสองเล่ม เอเชียตะวันออกยุคใหม่ : จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ของ จอห์น เค.แฟร์แบงก์ กับ เอ็ดวิน โอ.ไรเชาเออร์ และ อัลเบิร์ท เอ็ม.เครก จะช่วยให้เข้าใจทันทีว่าทำไมปัญหายังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน และรุนแรงถึงขนาดประทุให้ลุกลามกว้างขวางออกไปได้

หนังสือจากการสนับสนุนของมูลนิธิโตโยตาประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ชุดนี้ แม้มีอายุกว่าทศวรรษ แต่ยิ่งยืนยันภาพปัจจุบันจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่างๆ เหล่านั้นที่หนังสือฉายภาพให้เห็น

ตั้งแต่ชาวยุโรปมายังทวีปเอเชีย, การบุกรุกและจลาจลในประเทศจีน, ญี่ปุ่นตอบโต้อิทธิพลตะวันตก, ความเจริญของญี่ปุ่นสมัยเมจิ (อ่านไปเทียบไปกับสมัย ร.5 จนถึงวันนี้ได้เอง), ปฏิกิริยาของจีนต่ออิทธิพลตะวันตก, เอเชียตะวันออกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคจักรวรรดินิยม, จักรวรรดินิยมญี่ปุ่น : จากชัยชนะไปสู่หายนะ, กำเนิดสาธารณรัฐจีน, ลัทธิอาณานิคมและลัทธิชาตินิยมในอาณาบริเวณรอบนอกเอเชียตะวันออก, เอเชียตะวันออกในโลกนานาชาติ

เป็นหนังสือชุดที่อ่านเพลิน ความรู้ท่วมท้นจนปัจจุบันแทบไม่มีอะไรหลงหูหลงตา อาจารย์ เพ็ชรี สุมิตร กับอาจารย์ ศรีสุข หวิชาประสิทธิ์ กับอาจารย์ กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กับอาจารย์ ชัยโชค จุลศิริวงศ์
ช่วยกันแปล

• หนังสือเล่มใหม่ของคณะรัฐศาสตร์ สงขลานครินทร์ ปัตตานี ที่เพิ่งวางแผง มุสลิมชนกลุ่มน้อยภายใต้รัฐเมียนมาและรัฐไทย โดย เอกรินทร์ ต่วนศิริ กับ อันวาร์ กอมะ ถามคำถามที่คนไม่น้อยอยากรู้และอยากเห็นการคลี่คลาย

เพราะเป็นหนังสือซึ่งเกิดจากความสงสัยสามัญที่ว่า อะไรคือเงื่อนไขสำคัญของเหตุการณ์รุนแรงในรัฐยะไข่ เมียนมา กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีปัจจัยที่เหมือนและแตกต่างกันอย่างไรหรือไม่ และอะไรจะช่วยให้ความรุนแรงลดลงได้ในอนาคต ดังนั้น พัฒนาการด้านประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ จึงต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ เพราะการก่อรูปเป็น “รัฐ-ชาติ” (nation-state) การแบ่งเขตแดนรัฐสมัยใหม่ เป็นเงื่อนไขสำคัญด้านประวัติศาสตร์ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในสองประเทศอ่านกรอบวิเคราะห์ด้วยเงื่อนไขไตรลักษณ์, เมียนมา : ความรุนแรงสุดโต่งระหว่างรัฐและมุสลิมชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา, ไทย : ความรุนแรงต่ำระหว่างรัฐไทยกับมลายูมุสลิม ก่อนจะสรุปเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง อ่านให้เข้าใจไว้ย่อมดี

• หนังสือน่าอ่านอีกเล่มของอาจารย์ ล้อม เพ็งแก้ว โดยเฉพาะกับเราชาวไทยทั้งหลายที่ใช้ภาษาไทย ไม่ว่าจะสนใจให้แตกฉาน หรือเพียงใช้แค่สื่อสารให้รู้เรื่อง หรือใช้แค่กวนทีนไม่ให้รู้เรื่อง ก็อ่านได้อ่านดีทุกรูปนาม แถมสนุกอีกด้วย

สุดสนามสำนวนไทย เพิ่งวางแผงได้ไม่กี่วันนี้เอง ที่อาจารย์พยายามให้เราได้เรียนรู้ธรรมชาติของภาษาซึ่งเคลื่อนไหวคลี่คลายเปลี่ยนแปรไปได้เรื่อยๆ มิให้ยึดติดด้วยเกรงวิบัติ จนอาจปฏิบัติกับภาษาไปผิดลู่ผิดทางจนหลงภาษาผิดไป

อาจารย์เลือกคำเด็ดๆ ที่เราใช้กันถึง 60 กว่าคำ แสดงให้เห็นวิธีการใช้ภาษาของเรา ที่ทำให้ความหมายแปรไปไม่ตรงตัวกับคำที่เห็น ตั้งแต่ ตบหน้า, จูบปาก, เด็กสร้าง, ปล่อยผี, กบดาน, ชิงดำ, ฟ้าผ่า, จูงจมูก, ลูกหาบ, ผายลม, แทงข้างหลัง,

แค่นี้ก็ครื้นเครงแล้วว่า ภาษาที่จะหมายตรงตัวก็อย่างหนึ่ง แต่ที่ใช้กันทุกวันนี้นั้น เป็นอีกความหมายโดยสิ้นเชิง ลองดูต่อไปอีกหน่อย ทำหมัน, ลักไก่, ไก่รองบ่อน, ตายน้ำตื้น, หนอนบ่อนไส้, สามกุมาร, ช้างสารชนกัน, เสี้ยม, ตีปีก ฯลฯ

ลองไปหาอ่านต่อกันให้เพลิดเพลินเจริญใจได้

• พระพุทธศาสนาในไทยยังเป็นเรื่องต้องสนใจสำหรับผู้อยากรู้แท้จริง ไม่ว่าเรื่องพระธรรมวินัย การบริหารคณะสงฆ์ การครอบงำคณะสงฆ์ การมีอิสระหรือเป็นอิสระของสงฆ์หมายถึงลักษณะใด เพราะเดี๋ยวนี้ กระทั่งคนไม่ถือศีลเลยสักข้อ ซึ่งกระทำไม่ได้แม้แต่สำรวมวาจา ก็สามารถพิพากษาตัดสินผู้ถือศีล 227 ข้อได้อย่างไม่ต้องคิด ต้องสำนึกอะไร ถึงจะเป็นหนึ่งในพุทธบริษัทสี่ก็ตาม

โลกทุกวันนี้มืดจริงหนอ จนพระสงฆ์ต้องจุดตะเกียงเดินกลางวันอีกหรือไม่

จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ ที่สำรวจแนวคิดและประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐ ว่าความคิดนั้นคืออะไร มีความเป็นมาและปัญหาพื้นฐานสำคัญอะไร ตกทอดมา และเป็นปัญหาชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน กับการนำปรัชญาสังคม คือแนวคิดโลกวิสัย (secularism) กับเสรีนิยม (liberalism) มาวิเคราะห์และเสนอทางแก้ปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้น ทั้งเสนอว่าควรแยกศาสนาจากรัฐ พร้อมกำหนดบทบาทศาสนาในพื้นที่สาธารณะให้ชัดเจน และสอดคล้องกับประชาธิปไตยที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา สามารถประกันเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนาได้แท้จริง

นี่จึงเป็นหนังสือประวัติศาสตร์กับปรัชญาสังคม ที่จะส่องความคิดเราพร้อมไปกับส่องเส้นทางในสังคม ว่าจะสอดคล้องจนสามารถเดินไปด้วยกันได้หรือไม่

• มาถึงยุคเงินคริปโทฯ บิทคอยน์ ที่ออกแบบมาทำกำไรกันตอนแรก (และสูญเงินไปจำนวนมากก็มีในตอนแรกด้วย) จนรัฐบาลประกาศเข้าไปเก็บภาษีเมื่อไม่กี่วันมานี้ควรไหมที่เราจะย้อนกลับไปดูเศรษฐกิจและการเงินของมนุษยชาติ ตั้งแต่รู้จักการแลกเปลี่ยนสินค้า จนมีเบี้ยมีหอยเป็นตัวแทนแลกเปลี่ยนราคามากระทั่งปัจจุบัน เราเปลี่ยนสภาพกลายสภาพเศรษฐกิจไปกี่รูปกี่แบบแล้วบ้าง

เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี เรียนรู้อดีตเพื่อเข้าอนาคตโดย ลงทุนแมน ที่เป็นยี่ห้อความรู้ทางเศรษฐกิจนามหนึ่ง ให้เข้าใจถึงเรื่องปากท้องและการค้าขาย

หนังสือเล่มนี้ให้เราได้เห็นภาพเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคกลาง, ผ่านแบล๊ก เดธ, เรอเนสซองซ์, อินเดียคนละทวีป, สนธิสัญญา, เศรษฐกิจและศาสนา, จนถึงสบู่ฟองแรกของมนุษยชาติ, ครองเทคโนโลยีคือครองโลก, กำเนิดสหรัฐอเมริกา, สุดท้ายจากฟองสบู่สู่ปฏิวัติฝรั่งเศส เราได้เห็นความรุ่งเรืองแล้วร่วงโรย แล้วรุ่งเรืองก่อนจะร่วงโรยอีก ตามเส้นทางก้าวไปของมนุษย์ จนวันนี้ มาดูคริปโทฯ บิทคอยน์กัน

• หนังสือที่ยอดขายพุ่งลิ่วถึง 3 ล้านเล่มนี้ ให้เราได้เห็นคนสองเชื้อชาติ “ยิว” กับ “ญี่ปุ่น” ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์เศรษฐกิจได้อย่างน่าทึ่ง ยิวขึ้นชื่อว่ามีความคิดที่หลักแหลม มองการณ์ไกล ตัดสินใจเฉียบคม ส่วนญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่น จริงจัง ละเอียดรอบคอบ มีจิตวิญญาณนักสู้ จะเกิดอะไรขึ้น หากสามารถคิดแบบยิวและทำแบบญี่ปุ่นได้

ฮอนดะ เคน เขียน คิดแบบยิว ทำแบบญี่ปุ่น ขึ้นหลังจากพบเศรษฐียิวคนหนึ่งที่อเมริกา ซึ่งถ่ายทอดวิธีคิดชาวยิวจากรุ่นสู่รุ่นแก่เขา จนกลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวเปลี่ยนชีวิต เป็นเจ้าของธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองได้ หนังสือเล่มนี้จึงเผยวิธีคิดนั้นไว้หมดเปลือก ด้วยเรื่องราวเรื่องเล่าที่อ่านสนุก เรียบง่าย เข้าใจทันที และนำไปใช้ได้จริง ใครจะไปรู้ อ่านแล้ว ยิวคิดญี่ปุ่นทำไทยตาม สร้างเศรษฐีขึ้นอีกได้

• ยามนี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ฉีดแอสตร้าฯมาแล้ว 2 เข็ม ที่เคยบอกให้รอ 6 เดือน ค่อยฉีดอีกเข็มกลางปี ถูกเร่งให้กระชั้นเข้ามาเป็น 3 เดือน ดังนั้น ผู้ต้องการฉีดเข็มสามไม่ว่าจะไขว้ไม่ไขว้มาอย่างไร ควรติดตามข่าวสารให้ทันท่วงที เพราะโอมิครอนก็เร่งเข้ามาด้วยเหมือนกัน ดูท่าว่าอะไรก็รออะไรไม่ได้ อย่าประมาทวางใจไป

ปีนี้เป็นปีทดสอบความอดทนประชาชนอีกหน ว่าคนไทยทนทานสภาพแวดล้อมที่กดดันทุกๆ ด้านได้นานขนาดไหน-ไปติดตามดูกัน-เสือไฟ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image