ตู้หนังสือ : 50 ปี เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ พวกฉัน พวกมัน พวกเรา

 

50 ปี เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ พวกฉัน พวกมัน พวกเรา

50 ปี เดอะ ก๊อดฟาเธอร์

พวกฉัน พวกมัน พวกเรา

Advertisement

ไม่ว่าผู้มีความคิดทางการเมืองแบบไหนก็ตาม มีความนิยมชมชอบการปกครองระบอบใดก็ตาม แต่หากเห็นข่าวการระดมเงินเป็นค่าประกันตัวนักศึกษาประชาชนที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาล แล้วไม่ให้ประกันตัวมายาวนานจนถึงวันนี้ ที่สามารถระดมเงินสิบเงินร้อยเงินพันได้ถึง 10 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมงกว่าไม่ถึง 4 ชั่วโมงดี ต้องตระหนักแล้วว่า ผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม และไม่เห็นด้วยกับความไม่ชอบธรรมทางการเมืองซึ่งปรากฏชัดเจนเป็นประจำวันอยู่นี้ มีมากมายเพียงใด

และอย่าลืมประเมินอีกด้วยว่า เสียงเงียบทั่วประเทศ ที่อาจมีความเห็นเช่นเดียวกันนี้ ยังอาจจะมีมากมายอีกสักเท่าไหร่

อย่าปิดหูปิดตาตัวเอง จนนำพาบ้านเมืองไปสู่ความวินาศ หรือขัดขวางความก้าวหน้าจนโอกาสของประชาชนล้าหลังสังคมโลกไปไกล

Advertisement

● งานชิ้นเอกชิ้นเดียวซึ่งทำให้คนรู้จัก มาริโอ พูโซ ผ่านเวลามานานครึ่งศตวรรษ อาจไม่เคยผ่านสายตาคนสักจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นจำนวนที่รู้จักภาพยนตร์ซึ่งทำจากนิยายเล่มนี้ในชื่อเดียวกันคือ เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ฝีมือผู้กำกับตุ๊กตาทองออสการ์ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ที่เป็นงานไตรภาคอันลือลั่น บัดนี้ กลับมาเปิดโอกาสให้นักอ่านอีกรุ่นได้รู้จักต้นตอเจ้าพ่อโลกมืดอีกครั้ง

“มาเฟีย” กลายเป็นคำที่รู้จักแพร่หลายมาจากอิตาเลียนอพยพ ซึ่งตั้งตัวเป็นพ่อทูนหัวของคนในกลุ่มในชุมชน ด้วยการจัดการธุรกิจอาชญากรรมใต้ดินในทวีปใหม่ทางตะวันตกของยุโรป สร้างตำนานจอมอาชญากรโด่งดังขึ้นมากมาย

นิยายชิ้นเอกที่แปลโดย ธนิต ธรรมสุคติ เล่มนี้ ให้ภาพชัดเจนของผู้มี “ข้อเสนอซึ่งปฏิเสธมิได้” เพื่อช่วยเหลือคนเล็กคนน้อย หรือแม้แต่คนโตที่เข้ามาพึ่งพา แต่แน่นอน นั่นมิใช่การอุปถัมภ์แบบให้เปล่า วันหนึ่งวันใด ผู้เคยได้รับการช่วยเหลืออาจต้องตอบแทนบุญคุณนั้นอย่าง “ปฏิเสธมิได้” เช่นเดียวกัน

อ่านหนังสือสนุกเล่มนี้ เพื่อเห็นภาพครั้งหนึ่งของสังคมอารยะ ที่มีโลกสองโลกทับซ้อนกัน ก่อนกฎหมายจะเข้าจัดการให้สังคมสว่างขึ้นโดยไม่ปล่อยให้ความมืดครอบงำไปเสียหมด แม้เรื่องเหล่านี้จะไม่หมดสิ้นไปเบ็ดเสร็จก็ตาม

สั่งจองหนังสือเล่มนี้ได้จากสำนักพิมพ์มติชนด้วยราคา 290 บาท จากราคา 370 บาท ภายในวันที่ 15 มีนาคมนี้ โดยเริ่มส่งหนังสือตั้งแต่ 18 มีนาคมเป็นต้นไป

● นิยายซึ่งถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของยอดผู้กำกับอังกฤษที่โลกยกย่อง เดวิด ลีน เจ้าของงานซึ่งโลกจารึก สะพานข้ามแม่น้ำแคว (2500) ลอเรนซ์ ออฟ อเรเบีย (2505) ดร.ชิวาโก (2508) เป็นต้น ก็คือนิยายเรื่อง สู่แดนภารตะ A Passage to India ของนักเขียนอังกฤษนามระบือผู้ใช้ชีวิตอยู่ในบริติชราชหรือในอินเดียอาณานิคม อี.เอ็ม. ฟอสเตอร์ อันเป็นงานพากย์ไทยอย่างช่ำชองอีกเรื่องของ นพมาส แววหงส์

ว่าด้วยภาพยนตร์ อะ พาสเสจ ทู อินเดีย (2527) ในโรงภาพยนตร์ไทย ผู้กำกับลีนดูจะลดมนต์ขลังไปมากจากกล้องและจอภาพยนตร์ซึ่งไม่ใหญ่กว้างโอฬาร จนแทบได้กลิ่นอายทะเลทรายจากหนัง ลอเรนซ์ หรือเย็นเยือกกับหิมะใน ชิวาโก หรือแม้แต่ภาพและเสียงคลื่นซัดกระหน่ำคาบสมุทรดิงเกิลของไอร์แลนด์ใน ไรอัน’ส ดอเธอร์ (Ryan’s daughter 2513) เพื่อบรรยายความปรวนแปรอันครืนครั่นอยู่ในใจหญิงไอริชเมียครูผู้เฉยชา ที่มีสัมพันธ์กับนายทหารอังกฤษ จนได้ออสการ์ถ่ายภาพยอดเยี่ยม นอกเหนือนักแสดงสมทบชาย จอห์น มิลส์

ภาพเทือกเขาหิมาลัยอันตระการของหนัง “สู่ภารตะ” จึงถูกบีบอัดอยู่ในจอที่แสดงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติออกมาไม่ได้ ทั้งเนื้อหาของหมอหนุ่มมุสลิมอินเดีย กับสตรีอังกฤษ ในหมู่ถ้ำมะระบาร์อันมีเสน่ห์ลึกลับ ซึ่งนำไปสู่คดีความที่สร้างความร้าวฉานระหว่างชนพื้นเมืองกับสังคมคนผิวขาว ก็สื่อออกมาอย่างไม่ชวนพิศวงควรแก่ประเด็นที่เกิด หรือเป็นปัญหาให้คิดพอ จากบทและนักแสดงชายอินเดียที่ถูกทำให้เล่นไม่ไปกับเรื่อง

ดังนั้น แม้จะได้รับสองออสการ์ นักแสดงสมทบหญิง เป๊กกี้ แอชครอฟท์ ผู้ชราที่สุดที่ได้รับออสการ์ตอนวัย 77 ปี กับ มอริซ จาร์ เศรษฐีตุ๊กตาทองดนตรีประกอบยอดเยี่ยม หนังก็ได้รับเสียงวิจารณ์ไม่ดีนักเช่นเดียวกับ ไรอัน เพราะสื่อปัญหาออกมาไม่ดีพอ ไม่เหมือนหนังสือซึ่งบรรยายความได้ชวนอ่านชวนค้นหากว่า จากฝีมือนักเขียนชั้นครูผู้ได้แรงบันดาลใจชื่อเรื่องจากบทกวี “พาสเสจ ทู อินเดีย” ของกวีกลอนเปล่าผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกัน วอลท์ วิทแมน ในหนังสือเล่มดัง ลีฟส์ ออฟ กราส (Leaves of Grass 2413)

เป็นนิยายชวนอ่านชั้นดีอีกเล่ม

● นิยายพิสดารชวนหยิบจับจริงจังอีกเล่ม ไม่เพียงเฉพาะนักอ่าน แต่นักเขียนหรือนักอยากเขียน น่าหาหนังสือเล่มนี้อ่าน ดูวิธีการเขียนที่สนุกตั้งแต่บทแรก เมื่อคนตายลุกขึ้นเล่าเรื่องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

และไม่เพียงคนตาย แม้รูปธรรมนามธรรมอื่น เช่น ปีศาจ สีแดง หมา หรือเหรียญ ก็มีความคิดอ่านให้ผู้อ่านได้ติดตามความคิดเหล่านั้นไป – ไม่ธรรมดา

นักเขียนรางวัลโนเบลคนแรกชาวตุรกีปี 2549 คนนี้ ออฮาน ปามุก เขียนหนังสือเล่มโตน่าอ่าน มาย เนม อีส เร้ด (My Name Is Red 2541) แปลไทยโดย นันทวัน เติมแสงศิริศักดิ์ ออกมาด้วยเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ ความรักและการสืบสวนสอบสวน เมื่อสุลต่านสมัยจักรวรรดิออตโตมันรับสั่งให้กลุ่มจิตรกรราชสำนักผลิตหนังสือภาพเล่มหนึ่งขึ้นมา ด้วยเนื้อหาหมิ่นเหม่ต่อศาสนาอิสลาม จึงต้องดำเนินการอย่างลับๆ แต่ต่อมาจิตรกรกลับหายไปคนหนึ่ง ก่อนจะพบศพในบ่อน้ำ ผู้ดูแลรับผิดชอบสงสัยว่าฆาตกรไม่พ้นจะอยู่ในหมู่คนทำงานด้วยกัน จึงตามหลานที่ชื่อ “แบลค” มาสืบคดี

ส่วนนายแบลคคนนี้ ได้ระหกระเหินไปจากอิสตันบูลตั้งแต่ 12 ปีก่อน เพราะช้ำรัก ดังนั้น การกลับมาคราวนี้ จึงนอกจากต้องสืบคดีแล้ว ยังเป็นการสานต่อคดีรักที่เรื้อรังอยู่อีกด้วย

ความสนุกสนานจากการลับความคิดของผู้เขียน ที่ใช้ศาสนาอิงประวัติศาสตร์ แสดงความเห็นต่อการดำรงอยู่ของคนซึ่งเหมือนกันหมดไม่ว่าที่ไหน เช่น การใช้คำสอนในศาสนามาอ้างการกระทำของตน ไม่ว่าจะฝ่ายก้าวหน้าหรือพวกหัวอนุรักษ์ การปะทะกันของความคิดเก่ากับใหม่ ระหว่างการหาฆาตกร กับรายละเอียดที่วางไว้ให้ผู้อ่านติดตามเพื่อปะติดปะต่อ หลอกล่อให้เพลิดเพลิน

เป็นอีกเล่มที่นักอ่านน่าจะชอบ

● นิยายพิสดารอีกเล่มที่อยากให้อ่าน แม้จะย้อนเวลากลับไปไกลหน่อย แต่ไม่ไกลเกินจินตนาการนักเขียนที่จะนำพาจินตนาการนักอ่านท่องไปในโลกแห่งความคิดฝันอันเพริศแพร้วด้วย ให้เห็นว่า จากตรรกะเหตุผลและหลักการเรียนรู้ เมื่อเริ่มหนึ่งจึงไปสองไปสามตามด้วยสี่ด้วยห้า แต่จินตนาการของนักเขียนนักอ่านเริ่มจากหนึ่งสามารถพุ่งข้ามโลกตรรกะเหตุผลเหล่านั้นไปได้ทั่วทิศทันที

นั่นคือ ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ออกมาวางแผงเดือนนี้เอง ของ ลุยจิ ปิรันแดลโล อันเป็นงานปฏิวัติวงการละครสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 ส่งผลให้ผู้เขียนได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2477 ดังนั้น จึงเป็นงานที่น่าอ่านสุดๆ

ว่าไปแล้ว บ้านเมืองที่ผู้คนขาดจินตนาการอย่างสำคัญ โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจส่งผลชี้เป็นชี้ตาย (ซึ่งตอนนี้ตายไปแล้วไม่น้อย) กับชีวิตชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ซึ่งทื่อมะลื่อเป็นสากกะเบือเสียส่วนมาก น่าจะฝึกใช้สมองบ้าง

เพราะเมื่อ “นักประพันธ์คนที่สร้างเราขึ้นมาให้มีชีวิต เกิดไม่อยากนำเราไปสู่โลกศิลปะ นั่นคืออาชญากรรมชัดๆ เพราะผู้โชคดีได้เกิดมาเป็นตัวละครนั้น จะหัวเราะเยาะความตายก็ยังได้ เพราะตัวละครไม่มีวันตาย มนุษย์ตาย นักเขียนและเครื่องมือในการสร้างสรรค์ตาย แต่ตัวละครที่เขาสร้างขึ้นจะไม่ตาย”

ตัวละครทั้งหก จึงต้องออกตามหานักประพันธ์คนใหม่ สุดท้ายได้ไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้าคณะละครคนหนึ่ง ให้นำเรื่องราวของพวกเขาไปสร้างละครเวที

อะไรจะสนุก น่าอัศจรรย์ใจยิ่งไปกว่านี้อีก ลองหาอ่านดู

● หนังสือที่น่าอ่านสำรวจความคิดตัวเองและความคิดสังคมอีกเล่ม พวกฉัน พวกมัน พวกเรา ของ โจชัว ดี. กรีน แปลโดย วิลาสินี ฤกษ์ปฏิมา เดอเบส ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ของการเห็น “พวกเรา” มีศีลธรรมเหนือคนกลุ่มอื่น

ชัดไหม โดนไหม ตรงไหม – ที่ควรจะหาอ่าน ให้แน่ใจว่าเรา “เหนือ” จริงๆ

เพราะทุกวันนี้ที่เรากำลังเผชิญกับโศกนาฏกรรมสามัญสำนึกทางจริยธรรม ที่เกิดผลเป็นความขัดแย้งระหว่าง “พวกเขา” กับ “พวกเรา” ซึ่งหลายครั้งรุนแรงถึงเสียเลือดเสียเนื้อ กระทั่งเสียชีวิต นั่นเพราะเราไร้ศีลธรรมกันแล้วหรือ – เปล่าเลย – หนังสือว่าอย่างนั้น แต่เพราะเราต่างยึดมั่นศีลธรรมตามแบบของกลุ่มตัวเองกันเกินไป จนมองไม่เห็น หรือไม่มอง หรือไม่พยายามมองศีลธรรมของกลุ่มอื่นๆ ที่แตกต่างจากของเราออกไปบ้าง

งานชิ้นนี้พยายามอธิบายปัญหาเชิงจริยธรรม พร้อมเสนอแนวคิดที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และปรัชญา ในการอธิบาย ซึ่งนอกจากให้ความรู้ทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติแล้ว ยังนำเสนอด้วยวิธีใช้อารมณ์ขันในการพูดถึงความคิดที่ทำให้ขัดแย้งกันเหล่านั้นด้วย

ทั้งนี้ ด้วยการเปรียบเทียบจากผลงานวิจัยมากมายที่จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจน เกี่ยวกับการทำงานของกลไกทางจริยธรรม กับปัญหาจริยธรรมในสังคม รวมถึงแง่คิด และมุมมอง ที่จำเป็นต่อการช่วยกันสร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน ลองพิจารณาแต่ละหัวข้อว่าน่าสนใจเพียงใดต่อการตั้งคำถามตัวเอง

คำครหาทางจริยธรรม – การกระทำที่น่าตกใจ, ความถูกต้องและความยุติธรรม / ปัญหาเชิงจริยธรรม – โศกนาฏกรรมแห่งทรัพยากรสาธารณะ, ความขัดแย้งในทุ่งหญ้าแห่งใหม่ / จริยธรรมเร็วและช้า – ปรัชญาจากรถรางศาสตร์, ประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่น และสมองสองกระบวนการ / ปฏิบัตินิยมเชิงลึก – เหนือกว่าจริยธรรมแบบเล็งแล้วกด : กฎ 6 ข้อสำหรับคนเลี้ยงสัตว์ยุคใหม่

ไม่ถือศาสนา ไม่ได้หมายว่าไม่มีจริยธรรมได้ ดีชั่วยังแตกต่างกันอยู่เสมอ

● หมอดูพม่าเลื่องลือในบ้านเรามาแต่ไหนแต่ไร ขนาดคนมีเงินจับจ่าย ยังถึงกับขึ้นเครื่องบินไปพม่าหาหมอดูได้ อย่ากระนั้นเลย เมื่อมีตำรา โหราศาสตร์พม่า มาให้เห็นๆ พิมพ์ออกมาเดือนนี้เอง ก็ต้องนำมาแนะกันให้คนชอบๆ ได้รู้

หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนคือ ดวงสุริยะเนตร ได้ศึกษาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะได้พบผู้รู้โหราศาสตร์ชาวพม่า และได้รับมรดกตกทอดวิชามา กระทั่งเขียนตำราขึ้นยืนยันความแม่นยำให้เห็นประจักษ์ จนมีลูกศิษย์ลูกหาสืบทอดวิชาโหรพม่าขึ้นมากมาย เพื่อใช้งานวิชาพยากรณ์ในแขนงต่างๆ เหล่านี้ ที่ว่าด้วยการคำนวณ พยากรณ์ สะเดาะเคราะห์ และการจับยาม รวมทั้งสิ้น 48 บท พร้อมทั้ง 4 เรื่อง สำคัญแนบท้ายคือ เคล็ดการจับยาม, หาเศษปูมกำเนิด, สะเดาะเคราะห์ และยามอุบากอง (ที่คนชอบโหราศาสตร์หรือดูหมอให้หมอดู รู้จักกัน)

● นิตยสารรายเดือนอีกฉบับที่นักอ่านหรือไม่ใช่นักอ่าน ไม่น่าพลาดคือ เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่าด้วยนอตเทรอดาม หรือการปฏิสังขรณ์แห่งศตวรรษ ซึ่งคนทั้งโลกหรือคนไทยไม่น้อยที่รู้จักมหาวิหารแบบกอธิคอายุ 850 ปี อันโด่งดัง “นอตเทรอดาม เดอ ปารีส์” แห่งนี้ ที่ถูกไฟไหม้ใหญ่ไปในปี 2562 มหาวิหารซึ่งมีผู้เยี่ยมชมเกือบ 13 ล้านคนต่อปี มากเสียยิ่งกว่าหอไอเฟล จึงสร้างปรากฏการณ์การบูรณปฏิสังขรณ์อันยิ่งใหญ่ขึ้น

แน่นอน ย่อมมีภาพน่าชม น่าเรียนรู้ อันยากจะเสาะหาดูจากที่อื่นมากมาย

ในฉบับยังมีเรื่องน่ารู้นานาอีก เช่น ปืนสร้างประวัติศาสตร์, นักปีนเขาเนปาลพิชิตยอด เค ทู ครั้งแรกในฤดูหนาว, เรื่องของปลาหมอสี เรื่องนี้ภาพงามๆ ทั้งนั้น, ยอดนักปรับตัวอัศจรรย์ในอาณาจักรพืช, ซูดาน คืนอดีตให้อนาคต

นิตยสารฉบับนี้ประกันการอ่านเพลิน แถมลูกหลานชอบอีกด้วย

● ไม่ว่าผู้ใดยังติดใจเรื่องเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง “กรุงเทพมหานคร” อย่างน้อยควรรู้ที่มาที่ไปของชื่อนี้บ้างก็ไม่เสียหลาย อ่าน “กรุงเทพฯมาจากทวารวดี “ยูโทเปีย” ของชนชั้นนำ รัฐจารีต VS รัฐชาติ” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ในมติชนออนไลน์ เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ก็จะได้รู้ความคิดในการตั้งชื่อเมืองของเราขึ้นอีก

มีใครไม่ดีใจบ้างที่นักศึกษาประชาชนซึ่งถูกจับจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาลได้รับการประกันตัว

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image