ตู้หนังสือ : ทหารของพระราชา การเมืองในการทหารไทย

ตู้หนังสือ : ทหารของพระราชา การเมืองในการทหารไทย

ทหารของพระราชา

การเมืองในการทหารไทย

บุคคลในวงการบันเทิงอันเป็นที่รักของผู้คนจากไปอีกรายแล้ว ด้วยโรคร้าย หลังจากเพิ่งมีข่าวการรักษาตัวอยู่เงียบๆ เมื่อไม่นานนี้ คือพระเอก 5 ตุ๊กตาทองผู้โลดแล่นอยู่บนจอเงินและจอแก้วมายาวนานร่วม 40 ปี สรพงศ์ ชาตรี นักแสดงคู่พระทัย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งปลุกปั้นให้คร่ำหวอดกับงานแสดงในบทบาทนานามาจนเป็นที่ยอมรับ

หวังว่าผู้ใฝ่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจะสงบสุขในสัมปรายภพ

Advertisement

⦁ คดีมรณกรรมในลำน้ำของ “น้องแตงโม” ดำเนินไปทิศทางใด ยังไม่มีผู้ชี้บอกให้กระจ่างได้ แต่เช่นเคย อาจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ได้นำเราพบ “พื้นที่เมืองซึ่งลึกลับและสุดแสนมหัศจรรย์ ในดราม่าการเสียชีวิตของดารายอดนิยม” ใน “มติชนจอแก้ว” เมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เปิดหูเปิดตาให้เราเห็นแม่น้ำที่อยู่ตรงหน้า แต่ไม่เคยมองมาก่อน “ใครมีเรือก็วิ่งได้ตามสบายแต่ใจเลยหรือ”

ขณะเดียวกัน เช่นเคย ในสังคมที่ไม่ค่อยเอาตรรกะเหตุผล หรือต่างมีตรรกะเหตุผลที่อุตริ พิสดารเป็นของตนเอง ไม่เอากฎกติกา หรือระเบียบอันมีอารยะมรรยาทในสังคมใดมาปรารมภ์ ความจำเป็นที่ต้องคอยฟังนักกฎหมายเช่น กล้า สมุทวณิช ยังคงต้องติดตาม โดยเฉพาะการพูดถึง “บรรดาลูกขุนเล็บงาม กับคดีมรณกรรมกลางลำน้ำ” ในจอแก้วเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งสองเรื่องล้วนทักถามความคิดความเห็นผู้อ่านว่าจะติติงตัวเองอย่างไร

Advertisement

⦁ เมื่อเมษายนปีที่แล้ว ผู้เคยฟังบรรยายหัวข้อ “ทหารของพระราชา : การปลูกฝังลัทธิกษัตริย์นิยมในกองทัพไทยระหว่างปี 1868-1957” ในการ “สัมมนาทางสาย” ระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ เทพ บุญตานนท์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหิดล บัดนี้ สามารถทบทวนให้กระจ่างได้อีกครั้งเมื่อวิทยานิพนธ์ได้กลายรูปเป็นหนังสือให้อ่านเอาความรู้เต็มที่

ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี โดยผู้เขียนฉายภาพให้เห็นการก่อร่างกษัตริย์นิยมในกองทัพไทย พ.ศ.2411-2500 เพื่อให้อ่านความหมายและความสำคัญของพิธีกรรม กับพระราชกรณียกิจทางทหารของพระมหากษัตริย์ หลังการปฏิรูปประเทศให้เป็นสมัยใหม่ ในการพิจารณาการก่อร่างสร้างความจงรัก ตรวจสอบรอยร้าวในความภักดี โดยสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับกองทัพไทยตั้งแต่สมัย ร.5 ถึงปี 2500

อ่านพระมหากษัตริย์ในฐานะจอมทัพ กับพิธีกรรมและกิจกรรมทางทหาร, ชนชั้นกับความไม่มั่นคงในราชบัลลังก์, โรงเรียนนายร้อย, พระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร, ธงชัยเฉลิมพล, สร้างสำนึกความจงรักภักดี, รอยร้าวในความภักดี, อ่านช่วงยากลำบากของ ร.6 ในกองทัพ, ร.6 กับบทบาทจอมทัพ, พิธีกรรมและความเชื่อในการเสริมภาพทางทหาร, ราชบัลลังก์ที่เป็นภาระ, กองทัพของพระราชา, ร.7 กับสถานะจอมทัพ, พิธีกรรมทางทหารกับการปลูกฝังความจงรัก, อ่านจอมพล ป. กับนโยบายทางทหาร, จอมพล ป. กับพิธีกรรมทางทหาร, สมัยที่สองของจอมพล ป. ในฐานะนายกฯ, กรมหมื่นนราธิปฯในฐานะตัวกลางระหว่างรัฐบาลกับราชสำนัก, จอมพล ป. กับการฟื้นฟูบทบาททางการเมืองของพระมหากษัตริย์, แสวงการสนับสนุนจากตะวันตก, เสด็จฯเยือนต่างประเทศ, อ่านฟื้นฟูสัมพันธ์จอมพล ป. กับสถาบันพระมหากษัตริย์, การกลับมาของกรมทหารรักษาพระองค์, พิธีพระราชทานกระบี่, สัมพันธ์พระมหากษัตริย์กับทหาร, มาร์ชราชวัลลภ เพลงสำหรับทหารของพระราชา, พระราชทานชื่อค่ายทหาร, ทอดพระเนตรการซ้อมรบ และการเสด็จฯเยี่ยมทหารต่างจังหวัด

หนังสือที่จะฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันให้เห็นและเข้าใจชัดเจน

⦁ โดยผู้เขียนคนเดียวกัน เพื่อการเรียนรู้ในเรื่องที่ไม่สอนกันในโรงเรียน ให้เข้าใจบ้านเมืองและสังคมตัวเองให้ถ่องแท้ ต้องเข้าใจการบริหารจากบนลงล่างซึ่งยาวนานมานับศตวรรษ จนแม้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รูปแบบก็ยังไม่สามารถแปลงเนื้อหาให้เปลี่ยนไปทางสร้างสรรค์ของวิถีอารยะอันเป็นสากลได้

การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6 ครั้งสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงดำรงสถานะ “สยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์ทรงไม่มีตำแหน่งทางทหารที่สำคัญ ทั้งทรงมิได้ศึกษาการทหารมา ต่อเมื่อทรงครองราชสมบัติในยุคที่กษัตริย์ทั่วโลกเป็นนักรบ ปรีชาสามารถในศึกสงคราม ยุคซึ่งชายชาติทหารต้องการ “ผู้นำ” ที่เป็น “ทหาร” พระองค์จึงทรงต้องปรับพระองค์ให้มีภาพ “การทหาร” ทั้งทรงทำทุกวิถีทางเพื่อนำทหารมาอยู่ฝ่ายพระองค์ การแต่งตั้งโยกย้ายคนสนิท การเสริมสร้างกองทัพส่วนพระองค์ เช่น เสือป่า กรมทหารรักษาวัง ล้วนเป็นกุศโลบายดึงอำนาจกองทัพมาทั้งสิ้น แต่หนทางกลับไม่ง่าย เพราะ “พระราชอำนาจ” ทางทหารทั้งหมด กลับตกอยู่ในหัตถ์พระเชษฐาและพระอนุชาในพระองค์ การณ์ทั้งหมดที่เป็นมาเราจึงต้องเรียนรู้ให้ถี่ถ้วน

หนังสือสองเล่มนี้จึงเป็นรากฐานให้เข้าใจสถานะและบทบาททหารปัจจุบัน

⦁ หนังสืออีกเล่มที่ควรรู้ซึ่งแตกต่างออกไป เป็นงานค้นคว้าทางวิชาการทหาร และประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจสภาพการณ์ทางทหารที่เกิดขึ้นร่วมสมัย โดยมีเอกสาร (ที่ไม่เคยรู้) รองรับ นั่นคือ เรื่องเล่าจากทหารวิชาการอาวุโส : การค้นคว้าและอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์เพื่อสร้างคนสร้างชาติและสร้างทหารอาชีพ ของ พ.อ.ดร.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ ซึ่งผู้เขียนเล่าประสบการณ์การไปค้นคว้าเอกสารลับ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ ด้วยการสนับสนุนในกรมสมเด็จพระเทพฯ จนได้พบ “เอกสารลับสุดยอด” ที่จะเป็นการอธิบายใหม่ทางประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

อ่านการค้นคว้าและการอ่านเอกสารจากหอจดหมายเหตุที่ไม่เหมือนใคร, เป้าหมายการค้นคว้าคือการค้นพบข้อมูลใหม่, โอกาส ความเป็นไปได้ โชคช่วย ขยัน และการเตรียมตัว, เตรียมตัวเตรียมใจก่อนไป รู้จริงสำคัญกว่าจินตนาการ, ระบบจัดเอกสารของหอจดหมายเหตุ, เอกสารสำคัญเกี่ยวกับไทยและเพื่อนบ้าน, การพบข้อมูลใหม่สมัยสงครามโลก, แหล่งข้อมูลน่าสนใจสำหรับประวัติศาสตร์ไทยในสงครามโลก, ข้อคิดจากนักวิชาการตะวันตก ประวัติศาสตร์จากมุมมองของประเทศเล็ก, ข้อสรุป การนำเอกสารไปใช้ประโยชน์ การสร้างพลังความคิดอ่าน, วิชาประวัติศาสตร์กับการ “ลับสมอง” เป็นข้อคิดส่งท้าย

จะให้ภาพอีกด้านของทหาร และการทหารไทย

⦁ หนังสือประวัติศาสตร์สำคัญอีกเล่มที่ควรศึกษา หากมีเวลาจากการทำกินและโควิด หรืออีกที คือใช้ประโยชน์ทำกินสำหรับผู้เรียนรู้ที่เกี่ยวข้องเป็นวิชาชีพ นั่นคือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์

หนังสือวิเคราะห์ความเป็นมาเป็นไปของการกำเนิดกรุงศรีอยุธยา จุดเริ่มต้นชัดเจนที่สุดของวิถีการเป็นคนไท จนถึงการสร้างภาพประวัติศาสตร์บ้านเมือง แคว้น รัฐ ในดินแดนลุ่มเจ้าพระยา ก่อนกำเนิดกรุง พ.ศ.1893 ได้อย่างน่าสนใจที่สุด จึงเปรียบเสมือนหลักกิโลแรกๆ ที่เริ่มต้นเขย่าความคิดสร้าง “ตำนานการเป็นไทย” ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าเปลี่ยนแปลง “เรื่องเล่าเก่า” ขึ้น

อ่านเรื่องปาฏิหาริย์และเพดานความคิด, อุปาทานในศิลาจารึก, จะมองดูตำนานอย่างไร, กฎหมายก่อนสมัยอยุธยา, ความสำนึกทางกฎหมาย, ภาษาราชสำนัก, ร่องรอยในตำนานและศิลาจารึก, อโยธยาศรีรามเทพนคร, เมืองไตรตรึงษ์มิใช่นิยายปรัมปรา, นครศรีธรรมราชและอโยธยา, นครรัฐเพชรบุรี, ความขัดแย้งทางการเมืองเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ขอมแปรพักตร์, กระแสคลื่นแห่งการปลดแอก ปิดท้ายด้วยเรื่องต้องรู้ ปรัชญาการเมืองของไทยยุคต้นสมัยศรีอยุธยา

หนังสือที่นักเรียนประวัติศาสตร์ต้องเรียน ไม่เรียนประวัติศาสตร์ก็ต้องอ่าน

⦁ ประวัติศาสตร์อีกหน้าเพื่อความเข้าใจตัวเองและเข้าใจเพื่อนบ้าน สงครามในอดีตอีกศึกที่ไม่สอนกันในห้องเรียนเพื่อทำความเข้าใจเหตุที่เกิด ข้อเท็จจริง และผลที่ตามมา เป็นแต่ได้ยินชื่อแล้วผ่านๆ หูไป ไม่รู้ว่าเป็นรอยแผลใหญ่อีกแผลในประวัติศาสตร์ที่สามารถเยียวยาได้ แต่ไม่สนใจที่จะเยียวยากัน

เมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์นั้น เกิดกบฏจีนขึ้นต่อต้านราชวงศ์ชิงชาวแมนจู เรียกตัวเองว่า “ไท่ผิงเทียนกว๋อ” เข้มแข็งถึงขนาดยึดครองนานกิงตั้งตนเป็นเจ้าได้ แต่รูปแบบการก่อตั้งอยู่ไม่ได้นานในระยะยาว จนราวปี 2405 ต้องแตกพ่ายหนีไปหลบซ่อนตามป่าเขามณฑลเสฉวนยูนนาน ฟูเจี้ยน กวางตุ้ง กวางไส มีพวกหนึ่งลงมาถึงทุ่งไหหินราวปี 2408 ปล้น ฆ่า อาละวาดอยู่แถบสิบสองจุไท เมืองพวน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในการปกครองของราชอาณาจักรสยาม กลุ่มกำลังเหล่านี้ถูกเรียกว่า “ฮ่อ”

จนเข้ารัชกาลที่ 5 กลุ่มกำลังดังกล่าวซ่องสุมผู้คนที่หลวงพระบาง ต่อมาราวปี 2417 กองกำลังนั้นแบ่งเป็นสองทาง ทางหนึ่งยกมาเวียงจันทน์จะเข้าตีหนองคาย อีกทางไปหัวพันทั้งห้าทั้งหกจะตีหลวงพระบาง เมื่อทรงทราบข่าวศึก จึงทรงส่งกองทัพจากกรุงเทพฯไปปราบฮ่อ

สงครามครั้งนั้นยืดเยื้อกว่า 10 ปี เต็มไปด้วยความวุ่นวายทั้งการศึก การปล้น ฆ่า สร้างความเสียหายเกิดขึ้นมากมาย ปราบศึกฮ่อ โดย ทรงสมัย สุทธิธรรม จะให้ภาพเหล่านั้น เริ่มตั้งแต่แผ่นดินเดือด, เขตปกครองลาว พ.ศ.2322-2436, เมืองเชียงขวางและทุ่งไหหิน, ศึกจีนฮ่อ, การปกครองลาวของสยามหลังศึกฮ่อ, พระยอดเมืองขวาง, สยามกับการปกครองลาวใหม่ พ.ศ.2442, ลาวภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ปราบศึกฮ่อ-นิราศเมืองหลวงพระบาง อีกฉากประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้านซึ่งไม่อาจละความสนใจ

⦁ จีนยังมีเรื่องสารพัดสารเพอีกนานาที่จะเล่าหรือเรียนรู้กันไม่หมดสิ้น ตั้งแต่เรื่องในกำแพงนอกกำแพง ในวังนอกวัง ในบ้านนอกบ้าน ยังมีเรื่องในม่านในมุ้งอีกมากที่มีผู้สนใจค้นคว้านำมาเสนอ เพราะมีให้นำมาขยายได้อีกมากมาย เช่น จักรพรรดิเจ้าสำราญกับนางจิ้งจอก, ทะเลสาบเมรัยและป่าเนื้อหนังมังสา, อาณาจักรล่มแลกรอยยิ้มสาวงาม, แบ่งปันลูกท้อและ “ตัดแขนเสื้อ”, โรงคณิกาในฉางอาน, หยางโจวกับห้องนอนสีฟ้า, สิ่งมหัศจรรย์สำหรับพระราชมารดา, เจ้าหญิงแสนสวยกับสามสิบชาย, จักรพรรดิหลงกามา, พระราชวังวกวน เก้าอี้บริสุทธิ์ กับรถสารพัดนึก, ราชินีหวูกับผู้ลิ้มรัก ฯลฯ

ตัวอย่างเหล่านี้มีให้อ่านในหนังสือปกแข็ง กามาจีนหลังม่านไม้ไผ่ ของ อัศวร พยัคฆ์พานิช หลายเรื่องหลายคนรู้ แต่เล่าให้ฟังซ้ำได้ไม่เบื่อ หลายเรื่องกระทบการเมือง และหลายเรื่องเปลี่ยนแปลงราชสำนัก อ่านได้เพลิดเพลิน

⦁ คนชอบรู้ชอบเรียนเรื่องภาษาต้องชอบเล่มนี้อีกเล่มของอาจารย์ ล้อม เพ็งแก้ว ผู้ซึ่ง สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า เป็นผู้ใส่ใจความเป็นไปของสังคมตลอดเวลา นับแต่คำสแลงของวัยรุ่นสมัยใหม่ ที่ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวรรณคดีเช่นอาจารย์ไม่เคยตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นภาษาวิบัติ จนถึงเรื่องการบ้านการเมืองที่อาจารย์มักเห็นแง่มุมซึ่งควรนำมาเขียนขยายความไว้ เพื่อเป็นหลักฐานต่อไปข้างหน้า

วันนี้ อาจารย์มีหนังสือภาษาให้อ่านสนุกและเพลิดเพลินอีกเล่มออกมาคือ ลิงโลนโลน ที่ไม่น้อยคนอาจไม่เข้าใจ แต่อีกหลายคนในบางภูมิภาคเข้าใจได้

หนังสือเล่มนี้มีเรื่องประเภทรู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามอยู่มากมายเช่นเคย ตั้งแต่ลิงโลน คือลิงทำอะไร, บรรพชนคนบ้านแหลม, เล่าเรื่องวันวิศาขะ, บ้องตัน ตัวแทนชาวกระตั้ว, อิติปิโส 8 ด้านและคาถาประจำวันเกิด, อุปมาอุปไมย, บรรดาศักดิ์เจ้าเมืองชุมพร, วัตถุทางด้านวัฒนธรรม, สงครามสั่งสอนญวน ฯลฯ กับอีกมากมายหลายเรื่องอ่านอิ่ม ที่ทำให้เรารู้ว่า ภาษาก็มีชีวิตที่สามารถเคลื่อนไหว เราเล่นกับภาษาได้ แต่ภาษาก็เล่นกับเราได้เจ็บเหมือนกันหากไม่ระวัง

⦁ ระส่ำระสายกันไปหมดตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กระทั่งโรคระบาดเข้าซ้ำเติม เหมือนผีซ้ำด้ำพลอย เหมือน “โรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา” คนทำกิน ธุรกิจล้มหายตายจาก คนมีงานตกงาน คนรับเงินแจกปิดปากไม่ให้ด่า ก็กินได้ไม่กี่วัน ไม่ต้องบอกทุกคนก็มีแต่ช่วยตัวเอง ถ้าอย่างนั้น เราจะมีคนคอยจัดการชีวิตจัดการสังคมไว้ทำไม หากจัดการอะไรไม่ได้

ว่าแล้วร้านสุกี้บุฟเฟต์ ก็เปิดเพลงเศร้ากล่อมลูกค้าที่บ้างอกหักจากคนรัก บ้างอกหักจากคนไม่รัก จนฟังมากๆ เข้า บางคนบอกว่าเศร้าจนกินไปหัวจะทิ่มลงหม้อไฟเอา – เปลี่ยนเพลงชุดใหม่หน่อยเหอะ นี่อ่านมาจากข่าวมติชนจอแก้ว

เจ้าของร้านจะรู้จิตวิทยาว่าเอาเพลงเศร้ามาเปิด คนจะได้กินบุฟเฟต์น้อยลง – หรือไม่ ไม่รู้ แต่เสียงครวญจากสื่อสาธารณะที่ประสบสถานการณ์เดียวกันร้องขอให้เปลี่ยน ก็ช่วยเปลี่ยนชุดเพลงให้พวกเขาหน่อยเถอะ คงไม่ยากเท่าเปลี่ยนรัฐบาลหรอกนะ

ว่ามั้ย…

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image