ตู้หนังสือ : แม่นากมาแล้ว โลกที่อำนาจเป็นใหญ่

ตู้หนังสือ : แม่นากมาแล้ว โลกที่อำนาจเป็นใหญ่

แม่นากมาแล้ว

โลกที่อำนาจเป็นใหญ่

“หอกทมิฬแทงทมิฬ” ความจริงที่เหมือนเรื่องสั้นชั้นดีซึ่ง กล้า สมุทวณิช เขียนไว้กินใจตลอดทั้งเรื่องกระทั่งประโยคสุดท้าย ใน มติชน ออนไลน์ เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา นอกจากเห็นภาพ “ดาบนั้นคืนสนอง” ชัดเจนทั้งเนื้อหาโดยอุปมาอุปไมยแล้ว นักการเมืองที่มากับอำนาจ ด้วยการผลิตกฎ กติกา เป็นเครื่องมือทำร้ายเล่นงานฝ่ายตรงข้าม จะมองเห็นหอกดาบที่หันกลับมาทิ่มแทงฟาดฟันตัวเองหรือไม่ ยากจะทำนายหรือเข้าใจสติปัญญาผู้คนฝ่ายยึดกุมกำลังอำนาจ

แต่สำหรับประชาชนผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฤดูกาล ดูจะไม่แปลกใจแล้ว เมื่อเคยเห็นเพลง “หนักแผ่นดิน” ที่ยุคหนึ่งผลิตออกมาใช้กับคนคิดต่างฝ่ายหนึ่ง แต่สมัยต่อมา พวกกันเองกลับนำมาใช้กับฝ่ายที่เคยผลิตออกมานั่นเอง

Advertisement

ตถตา-อนิจจัง-อกาลิโก

⦁ เรารู้ ไม่ว่าจะเข้าใจด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่รู้ว่าโลกมีมหาอำนาจ มีอภิมหาอำนาจ ที่พยายามแก่งแย่งช่วงชิงการนำ การจัดระเบียบโลก แม้แต่ในเมืองเล็กเมืองน้อย สังคมย่อย การใช้อำนาจก็ไม่ต่างจากสัตว์เล็กกินสัตว์ใหญ่ ดังนั้น การอ่าน โลกที่อำนาจเป็นใหญ่ (วโส อิสริยัง โลเก) ความคิดทางการเมืองไทย จากพระเจ้าเอกทัศถึงรัชกาลที่ 4 จึงเป็นการเรียนรู้เพื่อตระหนักให้ถ่องแท้

หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ได้รับข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน สิ่งที่โดดเด่นคืองานหลายชิ้นที่อาจารย์ สมเกียรติ วันทะนะ ผู้เขียน นำมาอภิปราย อันเป็นเรื่องปกติที่นักเรียนประวัติศาสตร์ที่ดีต้องทำ คือการวิพากษ์และตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ที่นำมาใช้ เราจึงได้ติดตามรายละเอียดในแต่ละรัชกาลอย่างละเอียด

Advertisement

ตั้งแต่ความคิดทางการเมืองไทยสมัยพระเจ้าเอกทัศ สมัยพระเจ้าตากสิน จนสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ก่อนจะสรุปความคิดทางการเมืองไทยจากปี 2301 จนถึงปี 2411 และมองเห็นการใช้อำนาจต่อเนื่องมาได้กระทั่งปัจจุบัน

ไม่ว่านักเรียนประวัติศาสตร์หรือชาวไทยทั่วไปก็สมควรอ่าน

⦁ และหากได้อ่านอีกเล่มต่อไปนี้ ก็ยิ่งอาจได้เห็น และทำความเข้าใจกับการใช้อำนาจได้กระจ่างขึ้น จากสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านที่ยังระอุด้วยการใช้อำนาจบังคับปกครองประชาชนจนถึงขนาดฆ่าฟันปราบปราม นั่นคือ ประวัติศาสตร์พม่า จากราชวงศ์ถึงทหารใต้เงาอำนาจนิยมที่ไม่เปลี่ยนแปลง โดย อาณัติ อนันตภาค ที่เขียนประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านนานามาแล้วนับสิบเล่ม

การปกครองของอังกฤษสมัยล่าอาณานิคม ยังส่งผลถึงความเป็นพม่ามาจนเดี๋ยวนี้ แม้ส่วนหนึ่งจะนำสิ่งใหม่ๆ เช่น ความรู้ วิธีการปกครอง การศึกษา พัฒนาการคมนาคม ซึ่งสิ่งใหม่เหล่านั้นก็ย่อมทำลายวิถีจารีตของพม่าไปด้วย

สิ่งเดียวที่พม่ารักษาไว้ได้คือพระพุทธศาสนาซึ่งปักหลักมั่นคงในภูมิภาคนี้ และเข้มแข็งอยู่ในพม่าร่วมพันปี การเปลี่ยนแปลงจากอังกฤษหลายด้าน ก่อขบวนการชาตินิยมขึ้นมา ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญให้พม่าได้รับเอกราชในที่สุด แต่พลังชาตินิยมก็นำมาซึ่งความแตกแยกที่ยากจะสานต่อมานานนับทศวรรษ เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้วทั้งสิ้น

อ่าน จักรวรรดิพม่า จากพุกามถึงหงสาวดี, จักรวรรดิพม่าครั้งที่สอง, กำเนิดราชวงศ์อลองพญาหรือคองบอง, ปิดฉากราชวงศ์คองบอง, ในเงื้อมมืออังกฤษ, การเมืองฝ่ายชาตินิยมก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง, พม่าช่วงสงครามโลก, เมื่อมีอิสรภาพ, การเมืองพม่าหลังเอกราช, 26 ปีในมือนายพลเนวิน, ก่อนเป็นประชาธิปไตย, เมื่อประชาธิปไตยฉายแสง-และผลลัพธ์ย่อมเห็นชัดอยู่วันนี้

อ่านเพื่อมองและทบทวนตัวเอง ประชาชนกำหนดอนาคตตัวเองได้แม้จะยากเย็นแสนเข็ญอย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์แสดงไว้หลายครั้งแล้วมิใช่หรือ

⦁ หนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนมีแพร่หลายอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะแปลจากต้นฉบับฝรั่ง หรือแปลจากที่นักวิชาการจีนเขียนเอง แต่หากจะยกเอามาคัดว่าเล่มไหนสมบูรณ์ที่สุด อย่างน้อยต้องมีเล่มนี้ที่อยู่ในข่ายพิจารณาแน่นอน

เพราะการค้นคว้าใช้ตำราเบื้องต้นมากมายจนทำให้ ประวัติศาสตร์จีน : History of China ซึ่งนักเขียนและกวีผู้โด่งดัง ทวีป วรดิลก ลงแรงยาวนานในการรวบรวมเรื่องราวให้ละเอียดรอบด้าน ตั้งแต่บรรพกาลผ่านการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณรัฐ จนเข้ายุคปัจจุบัน ทำให้หนังสือมีความหนาถึง 1,496 หน้า

จึงทำให้หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นของเนื้อหาซึ่งไม่ตกหล่น จากยุคตำนานสร้างโลก ผ่านยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคอาณาจักร ถึงยุคราชวงศ์ต่างๆ ที่ครองอำนาจสืบต่อกันยาวนานนับพันปี ผ่านสงครามภายในเปลี่ยนระบอบ จนถึงยุคผู้นำ เติ้งเสี่ยวผิง ที่จีนกลายเป็นประเทศหนึ่งเดียวอันยิ่งใหญ่ในตะวันออก

นับจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกปี 2538 หนังสือเล่มนี้พิมพ์ซ้ำมากว่า 11 ครั้ง

⦁ หนังสืออีกเล่มที่จะทำให้เราตะลึงกับพฤติการณ์ทางทหารในอดีต ที่มิได้เปิดเผยให้แพร่ไปในการทำสงครามลับ ที่เราจะคาดไม่ถึงกับความลับหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ที่มาของสงคราม ภารกิจไร้ตัวตนในประเทศเพื่อนบ้าน หน่วยปฏิบัติการทางทหารที่ไทยเข้าร่วมทั้งหมด วีรกรรม บทบาทและขีดความสามารถของทหารคู่ศึก ฯลฯ อันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่เคยถูกซ่อนเร้น

บันทึกลับ นักรบนิรนาม 333 เขียนโดย พ.อ.ศนิโรจน์ ธรรมยศ เรื่องของทหารที่รบในสมรภูมิลาวซึ่งใช้ชื่อ “กองบัญชาการผสม 333” หรือเรียกย่อๆ ว่า “บก.ผสม 333” ที่กระทำเป็นการลับเนื่องจากสนธิสัญญาเจนีวา ห้ามประเทศอื่นใดแทรกแซงกิจการภายในของลาว ทหารที่ร่วมรบจึงต้องปกปิดชื่อ สกุล ยศ ตำแหน่ง ต้องลาออกจากราชการแล้วใช้ชื่อจัดตั้งใหม่ ไร้ตัวตนในสารบบไทย

หน่วยปฏิบัติการทางทหารไทยทั้งหมดที่ร่วมรบกว่า 30,000 นาย ทั้งล้มตาย สูญหาย และบาดเจ็บ ผู้อ่านจะได้ฟังปากคำนักรบผู้ผ่านสมรภูมิมาเอง ตั้งแต่ “พารู” จุดเริ่มต้นของไทยในสงครามลาว, หน่วยผสม 333, ชุดเฝ้าถนนสายโฮจิมินห์ วีรกรรมบ้านเลางาม : พล.ร.ท.เชษฐ โกมลฐิติ, ถล่มภูผาที : พ.ท.วิเชียร สุขดี, หน่วยปฏิบัติการพิเศษ “เอสจียู” : น.ต.สมภพ หอมจันทร์, สมรภูมิบ้านนา : พล.ต.ประจักษ์ วิสุตกุล, ข้าคือทหารเสือพราน, สมรภูมิประวัติศาสตร์ ทุ่งไหหิน, สมรภูมิล่องแจ้ง ฯลฯ คนครึ่งศตวรรษที่แล้วอาจเคยได้ยินมา แต่คนรุ่นหลังเล่า

เคยรู้บ้างไหม ว่าการเมืองหลังสงครามเย็นซับซ้อนขนาดไหน ไทยจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเคยเป็นฐานทัพให้อเมริกันโจมตีเพื่อนบ้าน

⦁ แม้การต่อสู้แก่งแย่งอำนาจจะยังดำเนินไป โดยเฉพาะในสังคมทุนนิยมบริโภคที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ในนามหรือป้ายยี่ห้อของการค้าเสรี (ฮา) จนโลกแทบวินาศสันตะโรไปแล้วจากการทำลายดูดกลืนสวาปามทรัพยากร แต่ยังมีความคิดของมนุษย์อีกส่วน ที่ยังต่อสู้ขัดขืนอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จเหล่านั้นอยู่ดี

ผดุงโลกนี้ไว้ (ทู อัพโฮลด์ เดอะ เวิร์ลด์ To Uphold The World) ของ บรูซ ริช ร่วมกันแปลโดย ลัดดา วิวัฒน์สุระเวช กับ วรารัก เฉลิมพันธุศักดิ์ ถ่ายทอดเนื้อหาน่าตื่นเต้นต่อเรา เช่นอดีตคณบดีมหาวิทยาลัยเยลรู้สึกมาแล้วว่า

“ผมตะลึงกับสิ่งที่บรูซ ริชเขียนในหนังสือน่าอัศจรรย์เล่มนี้ เขามองย้อนอดีตกลับไปนับพันปี เพื่อผลิตงานที่สร้างแรงบันดาลใจต่อสำนึกจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในปัจจุบัน ถือเป็นหนังสือที่ช่วยให้ชาญฉลาด ลึกซึ้ง และวางไม่ลง” เป็นคำเชิญชวนที่ยากจะต่อต้านยิ่ง ยิ่งมีคำนิยมของ ส.ศิวรักษ์ และคำนำของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอินเดีย อมรรตยะ เสน กับบทส่งท้ายขององค์ ทะไลลามะ ด้วยแล้ว หนังสือเล่มนี้คู่ควรกับการใช้เวลาด้วยยิ่ง

อ่าน อดีต ปัจจุบัน, ยุคพ้นวิสัยโลก, วิกฤตครั้งใหญ่, อรรถศาสตร์ ความมั่งคั่งคือสรณะอันสูงสุด, อานิสงส์ของการถวายดิน, ชัยชนะอันยิ่งใหญ่, มรดกพระเจ้าอโศก ปริศนาและความท้าทาย, ผดุงโลกนี้ไว้-หนังสือเล่มนี้ตรึงใจ

หาอ่านเพื่อปลุกสำนึกส่วนดีให้กระจ่างในมนุษย์ยุคสวาปามไม่เลือกหน้า

⦁ หนังสืออ่านเอาเรื่อง 200 หน้า แต่น่าจะใช้เวลาสักหน่อย ในการคิด ใคร่ครวญ ย่อยเนื้อหาที่พยายามให้แนวคิดเกี่ยวกับ “เวลา” ภายใต้ “สังคมทุนนิยมดิจิทัล” ฟังดูแปลกไม่น้อยใช่ไหม แต่ชวนให้อยากรู้ไม่น้อยในขณะเดียวกัน Future : ว่าด้วยเวลา ประวัติศาสตร์ กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระบบทุนนิยมดิจิทัล เขียนโดยนักวิชาการสังคมศาสตร์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ที่พูดถึงแนวคิดด้านเวลาที่เปลี่ยนไปจากยุคก่อนหน้า ไม่ว่าเวลานั้นจะเป็นของอดีตหรืออนาคต อันเป็นงานซึ่งปรับปรุงจากงานวิจัยภายใต้โครงการ “วิธีวิทยาในการศึกษาประวัติศาสตร์” จากทุนวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จึงย่อมเป็นงานที่น่าใช้เวลาด้วยอย่างยิ่ง

ลองอ่าน ข้อถกเถียงว่าด้วยเวลากับประวัติศาสตร์ในทฤษฎีมาร์กซิสต์, เวลาในฐานะภววิทยาแห่งชีวิต ว่าด้วยอนาคตจาก “อันโตนิโอ เนกรี”, ประวัติศาสตร์อนาคตในศิลป “อวองท์-การ์ด” รัสเซีย, ความเป็นการเมืองของเวลาอนาคต องค์ประธานแบบนิรนามในฐานะการโต้กลับต่อระบบทุนนิยมดิจิทัล, การเมืองของเวลาว่าด้วยประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสังคม

หนังสือที่ท้าทายคือหนังสือที่คิดว่าจะอ่านไม่รู้เรื่อง แท้จริงแล้ว หากมิใช่สูตรหรือสมการที่ไม่คุ้นเคย การติดตามใคร่ครวญคำอธิบายย่อมเข้าใจได้ไม่ยาก

⦁ สำหรับคนไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ยากที่จะไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อ “แม่นากพระโขนง” ไม่ว่าเรื่องราว โดยเฉพาะภาพจำที่ได้จากหนังไทย แม่นากพระโขนง ของ เสน่ห์ โกมารชุน ที่มีนางเอก “อกเขาพระวิหาร” สมญานามอันเลื่องลือของ ปรียา รุ่งเรือง ฉบับปี 2502 ซึ่งมีฉากต้นแบบติดตาของมือที่ยืดยาวลงจากเรือนไปเก็บมะนาวที่หล่นร่องกระดานไป หรือก้มมองลอดหว่างขาเห็นผี หรือแม่นากยืนเหยียบเพดานศาลาห้อยตัวห้อยหัวลง ฯลฯ ล้วนตอกย้ำให้ความเชื่อเรื่องแม่นากเป็นจริงเป็นจังยิ่งขึ้น

และด้วยหนังแม่นากเรื่องนี้เอง ที่ทำให้ เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2563 ติดจำในใจจนพบหนังสือ ผีอีนาก ในตู้ใบหนึ่งที่บ้านสงขลา ระบุปีตีพิมพ์ที่ 2482 จึงเกิดสงสัยว่า ผีแม่นากวัดมหาบุศย์มีจริงหรือไม่

จากนั้นจึงใช้เวลาต่อมา รวบรวมเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับแม่นาก กระทั่งได้หนังสือหนาถึง 944 หน้าในชื่อ แม่นาก ฉบับสมบูรณ์ เล่มนี้ขึ้นมาให้ได้รู้กัน จากคำเล่าขานนานา จากตำนาน ตั้งแต่สมัย ร.3 หรือ ร.4 ร.5 ไม่รู้แน่ จากหลายสถานที่ หลายยุคหลายสมัย มาปะติดปะต่อกันอย่างละเอียดลออจนครบถ้วน

เช่น เรื่องย่อนางนากพระโขนง, นากพระโขนงที่สงขลา, คนรุ่นเก่ากับนางนากพระโขนง, แม่นากภาคเรื่องสั้น, แม่นากภาคนิยาย, แม่นากภาคละครเวที, แม่นากภาคละครวิทยุ, แม่นากภาคเพลงทรงเครื่อง, แม่นากภาคกลอน 8 ปี 2467, แม่นากภาคลำตัด ปี 2472 ฯลฯ ยังมีประวัติวัดมหาบุศย์ ที่มหาบุศย์ (พระศรีสมโภช) เป็นผู้สร้าง และมหาบุศย์นี่เองที่เล่าเรื่องผีแม่นากถวายกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส รวมทั้งเรื่องอาจารย์พวนที่ปั้นรูปแม่นากขึ้นก่อน

อ่านเพลิดเพลิน เห็นเส้นทางแม่นากถึงวันนี้ที่มี “พี่มาก” โผล่มาชัดเจน

ส่วนเรื่องแม่นาค ค ควาย ก ไก่ นี่ (ยังไม่พูดเรื่องไหนถูกไหนผิด) ก่อนหนังนางนากของนนทรีย์ นิมิบุตร ออกมา 2542 ล้วนเป็น ค ควายทั้งสิ้น หลังจากนั้นจึงมักใช้ ก ไก่ กัน ในหนังสือของเอนกที่เรียกแม่นากในบทต่างๆ ในอดีต ที่จริงควรเป็น ค ควาย (หรือเปล่า) หรือต้นฉบับเป็น ก ไก่ จริงๆ ไม่ใช่มาแปลงเอา

⦁ นิตยสารรายเดือนซึ่งไม่น่าพลาด อ่านได้อ่านดีทั้งครอบครัว เนื้อหาสาระเพลิดเพลิน ภาพโดดเด่นแทบจะยิ่งกว่าใคร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับเดือนเมษายนว่าด้วย “ไต่ผาสำรวจหมู่เกาะกลางเวหา” ฟังน่าพิศวงแท้

การไต่ผาเยือนโลกที่สาบสูญ บนเขาสูงตระหง่านเหนือป่าฝนแอมะซอนที่ยังไม่ถูกมนุษย์แตะต้องเป็นส่วนใหญ่ พบพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นพันธุ์ใหม่ๆ หลากหลายชนิด ที่อาจไขความลับวิวัฒนาการได้มากมาย แต่ที่ท้าทายคือ ผู้ผจญภัยต้องบุกป่าฝ่าดงและมานะบากบั่นไต่เขาสูงชันให้ได้เพื่อไปพบสิ่งเหล่านั้น

อ่านพลาสติกหลากล้นคงคามหานที เมื่อแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายหนึ่งของอินเดีย ส่งขยะการผลิตลงปนเปื้อนมหาสมุทร ด้วยพลาสติกกว่า 6,200 ตันต่อปี-ไอ้หยา-ทำอย่างไรดี, อ่านม้าน้ำสัตว์โลกอัศจรรย์ หน้าตาเหมือนสัตว์หลายชนิดผสมกัน แต่ตัวผู้ออกลูก (ทำไมภาระนี้ไปตกแต่ม้าน้ำ) ตอนนี้กำลังเผชิญภัยคุกคามสุดสุด, ความหลงใหลนกจับคอนในป่าคิวบา ทำให้เหล่านกตกในอันตราย, อ่านพลิกโฉมหน้าเมืองลูร์ด จุดหมายยอดนิยมของชาวคาทอลิกรองจากกรุงโรม สถานแสวงบุญอันโด่งดังของฝรั่งเศสยามโรคระบาดแพร่เชื้อ ที่พักพิงใจมนุษย์

⦁ หลังสงกรานต์จะยังมีเหตุการณ์ร้ายขนาดไหนเกิดขึ้น ให้เตรียมรับมือ ไม่ว่าโรคที่กัดกินมนุษย์และสังคม หรือมะเร็งการเมืองซึ่งยังลุกลามยากระงับลงในระบอบอันควร

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image